ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์) ศูนย์พัฒนาศีลธรรมเวียงกาหลง

หลังจากที่สักการะกราบไหว้สิ่งศักดิ์ ๙ มหามงคล ท้าวมฒิกามหาพรหม (พระแม่กาเผือก) เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เวียงกาหลง, พระยอดขุนพลเวียงกาหลง, พระอุปคุตมหาเถระเจ้า ทรงชนะพญามาร, พระสยามเทวาธิราช, พระแม่ธรณี ศรีแห่งแผ่นดิน, เจ้าแม่กวนอิม อวโลกิเตศวรวรมหาโพธิสัตว์เจ้า, พระศรีอาริเมตไตร พระศรีอาริย์มหาโพธิสัตว์เจ้า, พระบรมครูพ่อปู่หมอชีวกโกมารภัจแล้ว ภายในศูนย์พัฒนาศีลธรรมเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่สงบเงียบร่มเย็นไปด้วยต้นไม้ เดินไปด้านในสุดตรงคูคลองเก่าสมัยโบราณจะเป็นที่ตั้งของ....ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ) อยู่ใกล้กับพระถังซังจั๋ง (หลวงจีนเฮี่ยนจั่ง) และพระพิฆเนศวร เทพบรมครูแห่งศิลปวิทยา ๑๘ ประการ ให้สักการะกราบไหว้บูชาขอพรอีกที่หนึ่ง พร้อมกับประวัติท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์) แบบยาวให้ศึกษาหาความรู้ด้วย

ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ)



คาถาบูชาพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ





พระถังซัมจั๋ง (หลวงจีนเฮี่ยนจัง) ศูนย์พัฒนาศีลธรรมเวียงกาหลง

ศูนย์พัฒนาศีลธรรมเวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย นอกจากจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๙ มหามงคล ท้าวมฒิกามหาพรหม (พระแม่กาเผือก) เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เวียงกาหลง, พระยอดขุนพลเวียงกาหลง, พระอุปคุตมหาเถระเจ้า ทรงชนะพญามาร, พระสยามเทวาธิราช, พระแม่ธรณี ศรีแห่งแผ่นดิน, เจ้าแม่กวนอิม อวโลกิเตศวรวรมหาโพธิสัตว์เจ้า, พระศรีอาริเมตไตร พระศรีอาริย์มหาโพธิสัตว์เจ้า, พระบรมครูพ่อปู่หมอชีวกโกมารภัจ ให้สักการะกราบไหว้แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แนะนำ คือ พระถังซัมจั๋ง (หลวงจีนเฮี่ยนจัง) ตั้งอยู่บริเวณด้านในสุดติดกับคูคลองสมัยโบราณของเวียงกาหลง ให้กราบไหว้พร้อมกับประวัติของพระถังซัมจั๋ง ให้ได้อ่านบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ท่านเดินทางไปศึกษาค้นคว้าและเขียนไว้ จากการเดินทางครั้งนี้เป็นเหตุให้เกิดวรรณกรรมอมตะของจีนเรื่อง "ไซอิ๋ว" ขึ้น









เพาะกล้าถาด สำหรับใช้กับรถดำนาแบบ 4 แถวเดินตาม

การทำนาโดยทั่วไปก็ทำกันหลายรูปแบบมีทั้งใช้คนปลูก ใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ปลูก ใช้รถดำนาปลูกปลูกแบบโยน หรือไม่ก็ใช้วิธีการหว่าน แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนการปลูกข้าวก็ต้องเริ่มต้นขั้นตอนของการเพาะต้นกล้าก่อน ซึ่งชาวนาส่วนมากที่ทำกันก็จะใช้วิธีการหว่านเมล็ดข้าวลงไปในแปลงนาเพื่อรอให้โตเป็นต้นกล้าแล้วจึงถอนต้นกล้าเพื่อนำไปปลูกเป็นขั้นตอนสุดท้าย

แต่ก็มีบางที่ใช้ต้นกล้าที่เพาะด้วยถาดเพาะกล้า เป็นต้นกล้าในการปลูกข้าว การเพาะกล้าถาดมีหลายขั้นตอนมาก ก่อนอื่นเลยให้แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวทิ้งไว้ 2 คืน จากนั้นให้ตักเมล็ดพันธุ์ข้าวออกนำไปหมักทิ้งไว้อีก 2 คืน เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวออกงอก ขั้นตอนต่อไปให้นำถาดเพาะกล้าที่ใส่แกลบแล้ว นำไปวางที่รางให้เต็มเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของร่อนกล้า เมื่อร่อนเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในถาดเพาะกล้าครบ 3 รอบแล้วให้ใช้แปรงปัดเมล็ดพันธุ์ข้าวในถาดเพาะกล้าเพื่อแยกออกเป็นถาดให้เรียบร้อยทุกถาดที่วางอยู่บนราง จากนั้นใช้แกลบดำร่อนปิดหน้าเมล็ดพันธุ์ข้าวให้สนิทและใช้แปรงปัดแกลบอีกรอบเพื่อแยกออกเป็นถาด ไปจนครบทุกถาด จากนั้นใช้น้ำรดถาดเพาะกล้า ขั้นตอนสุดท้ายใช้น้ำยารดถาดเพาะกล้าเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้าเป็นเชื้อราเป็นขั้นตอนสุดท้าย สารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ใช้ชื่อว่า "เมทาแลกซิล" ราคา 350 บาท ใช้ดี ต้นกล้าไม่เป็นโรค

จากนั้นนำถาดเพาะกล้าทั้งหมดที่ร่อนเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วนำมาวางซ้อนกันจะวางกองละกี่ถาดแล้วแต่พื้นที่ และให้ใช้ถาดเพาะกล้าที่มีแต่แกลบไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าววางปิดทับไว้ด้านบน จากนั้นให้นำกระสอบฟางผืนใหญ่ปิดคลุมถาดเพาะกล้าทั้งหมด ทิ้งไว้ 3 คืนเพื่อให้เมล็ดพันธุ์งอกจากนั้นจึงจะนำไปแปลงนาพักไว้เพื่อรอให้ต้นกล้าโต เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการดำนาต่อไป

ใส่แกลบรองพื้นถาดเพาะกล้า

เตรียมร่อนเมล็ดพันธุ์ข้าว
หลังจากร่อนเมล็ดพันธุ์ครบ 3 รอบ
เครื่องร่อนเมล็ดพันธุ์ข้าว
ร่อนเสร็จใช้ถาดเพาะกล้าไม่มีเมล็ดพันธุ์ปิดหน้าไว้
แกลบเผาซื้อจากโรงสีข้าว
ผสมน้ำรดถาดเพาะกล้ากันเชื้อราขั้นตอนสุดท้าย
พันธุ์ข้าวสันป่าตอง แช่ทิ้งไว้ 2 คืน
หมักทิ้งไว้  2 คืน พร้อมที่จะร่อน
หลังจากใช้กระสอบฟางคลุมไว้ 3 คืน
ย้ายไปแปลงนารอปลูก





สิงห์ปาร์ค ไร่บุญรอดบริวเวอรี่ เชียงราย

สิงห์ปาร์คที่ไร่บุญรอดบริวเวอรี่..........จุดเด่นของที่นี่ก็คงจะเป็นสิงห์ตัวใหญ่มากที่เมื่อเราขับรถผ่านจะมองเห็นสิงห์สูงเด่นเป็นสง่าทำให้อดไม่ได้ที่จะแวะจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูป อีกอย่างอยู่ติดถนน นอกจากการถ่ายรูปกับสิงห์ตัวใหญ่แล้วที่นี่ยังมีร้านอาหารให้รับประทาน พักเหนื่อย ชมวิวสวยของไร่บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นอีกที่แนะนำเมื่อมาเที่ยวเชียงราย สำหรับเส้นทางการไปที่สิงห์ปาร์ค ไม่ได้ยุ่งยากอะไรกรณีเริ่มที่ตัวเมืองเชียงรายก็ให้ใช้เส้นทางที่จะไปเด่นห้า ขับไปเรื่อยๆ สิงห์ปาร์คก็จะอยู่ด้านขวามือ เป็นเส้นทางลัดที่สามารถทะลุไปเชียงใหม่ได้ สำหรับถนนสายนี้จะมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ให้แวะเที่ยวได้ เช่น  พิพิธภัณฑ์หอพลับพลา อยู่ติดถนนแวะจอดเที่ยวได้ง่าย ถ้าขับต่อไปอีกนิดก็จะเป็นวัดพระธาตุจอมหมอกแก้ว พระธาตุเก้าจอมของเชียงราย แวะกราบไหว้ขอพร หรือไม่จะไปเที่ยวสวนสัตว์เปิดของเชียงรายก็ได้อีกเช่นกัน...








ด่านพรมแดนแม่สายแห่งที่ 2 เชียงราย

อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นอำเภอที่มีพรมแดนติดกับสหภาพเมียนมาร์ เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉานโดยมีแม่น้ำสายกั้นเขตแดนพูดถึงแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำที่แคบมากก็ไม่ได้กว้างอะไรมากมายแค่เดินข้ามสะพานก็เข้าสู่ประตูสหภาพเมียนมาร์แล้ว โดยมีช่องทางสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถเข็น 2 ล้อ และคนเดินเข้า-ออกผ่านด่านพรมแดนแม่สาย เปิดทำการเวลา 06.00-18.30 น. และที่นี่ทุกคนรู้จักกันดีเมื่อมาเที่ยวตลาดแม่สาย และเข้าไปเที่ยวตลาดท่าขี้เหล็กแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปกันตลอดทั้งวันไม่ขาดสายโดยเฉพาะวันหยุดยาว จะเยอะมาก...

สำหรับที่นี่.......ด่านพรมแม่สายแห่งที่ 2 เปิดทำการเวลา 06.00-18.30 น. เช่นกัน ที่นี่ไม่มีอะไรขาย ไม่มีร้านค้าเหมือนกับด่านพรมแดนที่ตลาดแม่สาย ที่นี่ใช้เป็นช่องทางสำหรับรถบรรทุกหนักทุกชนิดขนส่งสินค้าเข้า - ออกระหว่างไทยและพม่า ทั้งด่านพรมแดนไทยและด่านพรมแดนพม่าอยู่ไม่ไกลกันมากนัก..

ด่านพรมแดนไทยที่ตลาดแม่สาย แห่งแรก

ด่านพรมแดนแม่สาย แห่งที่ 2
ด่านพรมแดนประเทศไทย


ด่านพรมแดนประเทศไทย


การละเล่นซอพื้นเมืองล้านนา

วันอังคารที่ 16 กรกฏาคม 2556 ที่ผ่านมา...............สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย จัดการแข่งขัน "การละเล่นซอพื้นเมืองล้านนา" โครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในจังหวัดเชียงราย ณ. ห้องประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อยู่ภายในสนามกีฬาของจังหวัดเชียงราย

การละเล่นซอพื้นเมืองล้านนา เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่นิยมกันมากในล้านนา ในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย เป็นการละเล่นที่มีมาแต่โบราณและยังคงมีการสืบทอดมาจนบัดนี้ จะพบเห็นการซอตามงานวัดที่จัดงานปอยหลวงเกือบจะทุกวัดก็ว่าได้ และเมื่อมีงานซอเมื่อไรหน้าเวทีจะเต็มไปด้วยผู้เฒ่าผู้แก่จะชอบกันมากนั่งดูกันอย่างสนุกสนานยิ่งเป็นคณะที่ชอบดูกันจนซอจบ นอกจากงานปอยหลวงแล้วก็จะพบเห็นการซอในงานทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือที่คนเหนือเรียกว่า "ตานปอย"














พระธาตุเก้าจอมของเชียงราย

การเดินทางไปสักการะกราบไหว้พระธาตุ 9 จอม เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวจังหวัดเชียงราย พระธาตุเก้าจอม เป็นพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงรายแต่จะอยู่กันคนละอำเภอถือว่าอยู่ไกลกันมากต้องใช้เวลาในการเดินทางเหมือนกัน แต่ละพระธาตุตั้งอยู่บนเขาสูง และพระธาตุที่ตั้งอยู่เขาสูงที่สุดคือ พระธาตุจอมจ้อ อำเภอเทิง สูงมากสภาพรถต้องพร้อม ดับตอนขับขึ้นดอยอาจถอยหลังลงได้อันตราย ก่อนเดินทางไปสักการะกราบไหว้พระธาตุเก้าจอม ก่อนอื่นเลยศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง เพราะอาจหลงได้ ทำให้เสียเวลาย้อนไปย้อนมาทำให้การเดินทางไปสักการะกราบไหว้พระธาตุเก้าจอมทำได้ไม่ครบ 9 จอมใน 1 วันได้ 

ตามความเชื่อ...เชื่อกันว่าหากสักการะครบทั้ง 9 จอม ภายใน 1 วัน จะเกิดสิริมงคลเช่นเดียวกับการปิดทอง 7 วัด ภายใน 1 วัน ส่วนจะเริ่มต้นสักการะพระธาตุเก้าจอมไหนก่อนดีก็แล้วแต่ความสะดวก กรณีที่ไปไม่ถูก หรือไม่รู้จักถนนหรือเส้นทางของจังหวัดเชียงรายก็แนะนำให้ใช้บริการบริษัทที่ทำทัวร์เก้าจอมใน 1 วัน จะดีกว่าเดินทางเอง และทำให้ได้สักการะกราบไหว้พระธาตุเก้าจอมครบทุกจอมใน 1 วัน

พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมผ่อ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมแว่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมจัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมจ้อ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมแจ้ง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
พระธาตุจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย



พระธาตุจอมแว่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

"พระธาตุจอมแว่ศักดิ์สิทธิ์ สถิตคู่เมืองพาน" ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย พระธาตุจอมแว่จะอยู่ใกล้กับวัดชัยมงคล หาง่ายเหมือนกันเมื่อไปถึงจะมองเห็นพระองค์ยืนองค์ใหญ่และพระนอนองค์ใหญ่มากสูงเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดดอยเมื่อมองจากระยะไกล...ด้านหน้าของพระธาตุจอมแว่จะมีซุ้มประตูอยู่ 2 ซุ้ม จะขึ้นทางไหนก็ได้แล้วแต่สะดวก ส่วนมากเลือกที่จะขับรถขึ้นมากกว่าที่จะต้องเดินขั้นบันไดนาคซึ่งมีจำนวนถึง 327 ขั้น...ในวันที่ไปสักการะกราบไหว้เป็นวันที่ถนนหน้าวัดพระธาตุจอมแว่ซ่อมบำรุง ปิด จึงต้องเดินขึ้นบันไดนาค และเป็นพระธาตุแรกที่ต้องเดินขึ้นในจำนวนพระธาตุเก้าจอมที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย

ประวัติวัดพระธาตุจอมแว่...  ตามตำนานได้กล่าวว่าพระธาตุเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นโดยพญางำเมือง เจ้าเมืองภูกามยาว (พะเยา) ในราว จ.ศ. ๖๔๖ (พ.ศ. ๑๘๓๗ โดยที่พระองค์ได้เสด็จขึ้นดอยซางคำ (ชื่อเดิมของดอยจอมแว่) เพื่อตรวจดูอาณาเขตบ้านเมืองของพระองค์ว่ามีไพร่ฟ้าประชาราษฏร์ ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง จากนั้นจึงเสด็จไปยังดอยอีกลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ตอนเหนือของแม่น้ำคาวโตน และเสด็จเลียบตีนดอยด้วน (ดอยงาม) แล้วเสด็จไปยังเมืองภูกามยาว เมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองภูกามยาวในเดือน ๔ ปีเดียวกัน จึงโปรดให้ขันฑเสนามาตย์ นำผู้ที่มีความรู้ในการก่อสร้างเจดีย์พร้อมกับไพร่ฟ้าปลายแดน มาลงแรงช่วยกันสร้างพระธาตุจอมแว่ขึ้นที่ดอยซางคำ โดยได้ก่อทับรอยฟานเอาไว้ บรรจุพระเกศาธาตุ และแก้วแหวนเงินทองเอาไว้ สร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือน ๘ จึงได้มีพิธีการเฉลิมฉลองสมโภชพระเจดีย์เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน.......ในสมัยเจ้าเมืององค์ต่อมา บ้านเมืองอยู่ในสภาวะไม่สงบสุข ประชาชนจึงได้อพยพไปอยู่ที่อื่น ทำให้พระธาตุจอมแว่ทรุดโทรมปรักหักพังจากภัยธรรมชาติ จนในปี จ.ศ. ๑๑๙๙ (พ.ศ. ๒๓๘๐) พระยาหาญเจ้าเมืองพานคนแรกจึงได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่จากซากเดิม..........จนในสมัยพญาไชยชนะสงคราม เจ้าเมืองพานที่ ๓ ได้ร่วมศรัทธา ๓ หมู่ ร่วมกันบูรณะพระธาตุขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม แล้วบรรจุพระมหาชินธาตุเอาไว้ มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ ที่พระธาตุจอมแว่จะมีกระป๋องอยู่ใบหนึ่งสำหรับใช้สรงน้ำพระธาตุและไม่เหมือนกับพระธาตุอื่นโดยมี วิธีการ ขั้นตอนการใช้อุปกรณ์สรงน้ำพระธาตุ ดังนี้
  1. นำน้ำไปใส่กระป๋องให้พอดีกับระดับที่กำหนดไว้
  2. ชักเชือกขึ้นไปจนถึงยอด แล้วดึงไว้
  3. ดึงเชือกสีแดง เพื่อคว่ำน้ำในกระป๋อง
  4. ค่อยๆ ปล่อยเชือกในมือ เพื่อให้กระป๋องลงมาอย่างระมัดระวัง
ตามความเชื่อ...ในการไหว้พระธาตุจอมแว่ จะมีอยู่ นัยยะที่สำคัญ ดังนี้ ความหมายนัยยะที่ 1 แว่ เป็นภาษาเหนือ แปลว่า แวะ ถ้าผู้ใดผ่านมากราบไหว้บูชาก็จะแคล้วคลาดปลอดภัยจากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง ความหมายนัยยะที่ 2 แว่ เปรียบเหมือนเสียงเริ่มพูด เริ่มเจรจา ถ้าได้กราบไหว้และตั้งจิตอธิฐานการเจรจาธุรกิจจะประสบผลสำเร็จ


ถนนหน้าวัดพระธาตุจอมแว่
บันไดนาค 327 ขั้น สร้างเมื่อ พ.ศ.2503-2506 
วัดพระธาตุจอมแว่
พระธาตุจอมแว่
กระป๋องสรงน้ำพระธาตุ

รูปหล่อครูบาเจ้าเกษม เขมโก

พระพุทธจอมเกศ มหามังคลานุสรณ์ ร.๙