ขอเชิญสายธารศรัทธาร่วมบูรณะหลวงพ่อทันใจเอน วัดป่าลัน แม่ลาว เชียงราย

หลวงพ่อทันใจเป็นพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวจังหวัดเชียงรายที่ผ่านมา แผ่นดินไหวทำให้หลวงพ่อทันใจที่สร้างมานานเกิดการเอน แตกร้าว ท่านพระอาจารย์สมบัติ โชติปญโญ (น.ธ.เอก น.บ. ร.ม.) วัดป่าลัน ต.มะดะ อ.แม่ลาว จึงขอเชิญสายธารศรัทธาร่วมบูรณะหลวงพ่อทันใจที่ได้รับความเสียหาย สำหรับหลวงพ่อทันใจจะตั้งอยู่ด้านหลังของวัดป่าลัน ระยะทางเข้าไปวัดป่าลัน 1 กิโลเมตรจากถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ สภาพถนนไปวัดไม่ดีเท่าไรเป็นถนนที่ยังสร้างไม่เสร็จนะค่ะ

ขอเชิญร่วมบริจาคได้ที่ วัดป่าลัน ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย หรือบริจาคผ่านบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบ้านดู่ (เชียงราย)เลขที่บัญชี 677-236666-5 หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่พระอาจารย์สมบัติ โชติปญโญ (น.ธ.เอก น.บ. ร.ม.) โทร.084-740-1345 













หัตถกรรมโบราณเครื่องเคลือบลวดลายเวียงกาหลง เชียงราย

เชื่อกันว่าเครื่องเคลือบดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงนั้น เริ่มผลิตในสมัยราชวงศ์มังราย หรือประมาณพุทธศวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีในบรรดาเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในล้านนานั้น เครื่องถ้วยเวียงกาหลงนับว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักที่สุด เพราะมีคุณภาพที่ดี มีความสวยงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือมีน้ำหนักเบา เนื้อบาง มีการใช้สีเขียนใต้เคลือบและเคลือบทับด้วยเคลือบสีเขียวไข่กา มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานเรื่องเล่า คือ ลวดลายกาหลงที่แสดงถึงคติความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนา รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศน์วิทยาที่สะท้อนอยู่บนลวดลายพันธุ์พฤกษาที่วาดตกแต่งบนเครื่องปั้นดินเผาของเวียงกาหลง

แหล่งเตาเผาเวียงกาหลงที่ขุดค้นพบนั้น ตั้งเรียงรายอยู่ตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลาว ตั้งแต่หมู่บ้านทุ่งม่าน บ้านสันมะเค็ด จนถึงบ้านป่าเหมือด ลักษณะเตาเผาเวียงกาหลงเป็นเตาเผาชนิดลมร้อนตรง เปลวไฟผ่านไปยังภาชนะที่เผาในเตา เป็นเตาที่มีขนาดเล็กโดยมีความกว้างไม่เกิน ๒ เมตร ความยาวไม่เกิน ๔.๔ เมตร ปล่องไฟมีความกว้างเฉลี่ย ๙๒ เซ็นติเมตร ผนังเตาหนาประมาณ ๔๒ เซ็นติเมตร พบว่ามีร่องรอยการเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงมากเนื่องจากมีการละลายของผนังเตาทำให้เกิดการเคลือบติดกัน ส่งผลให้ผนังเตามีความแข็งแรงคงทน อีกทั้งกรรมวิธีการเผาของเวียงกาหลงที่สามารถเคลือบน้ำยาได้บาง มีความสม่ำเสมอกันทั่วถึงทั้งชิ้นงาน ในบางแหล่งเตาเผาพบกล่องดินซึ่งใช้ตั้งเรียงภาชนะที่จะเผาในเตาเผาเป็นการป้องกันสิ่งสกปรก ฝุ่นเถ้าและควันไฟกระทบชิ้นงาน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิในการเผาให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่พบในแหล่งเตาเผาอื่นๆ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิควิทยาการชั้นสูงที่คนในเวียงกาหลงได้คิดค้นขึ้นมานานกว่าหลายร้อยปี

เนื่องจากพื้นที่เวียงกาหลงเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน จึงทำให้มีแร่ธาตุสะสมอยู่ในเนื้อดินมากมาย ใช้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารใดก็เจริญงอกงาม แม้แต่การปลูกข้าวญี่ปุ่นในพื้นที่เวียงกาหลง ก็ยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพจนชาวญี่ปุ่นยังยอมรับว่าอร่อยกว่าข้าวที่ปลูกในประเทศ ดินที่ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา คือมีความเหนียวและยืดหยุ่นสามารถนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อกันว่าแร่ธาตุในเนื้อดินนั้นเมืิ่อนำมาผลิตเป็นเครื่องถ้วย ภาชนะเครื่องใช้ จะส่งผลให้ผู้ใช้มีสุขภาพดี อายุยืนอีกด้วย

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงเริ่มเป็นที่รู้จักนับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ โดยการสำรวจของพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) พบว่ามีการสร้างงานเครื่องเคลือบดินเผาหลากหลายรูป ทั้งภาชนะเครื่องใช้ ตุ๊กตา พระพุทธรูป ตัวหมากรุก ฯลฯ สามารถแบ่งกลุ่มตามชนิดการเคลือบ และการตกแต่งลวดลายออกเป็น ๔ กลุ่ม
๑. กลุ่มชิ้นงานประเภทเขียนลวดลายสีดำใต้เคลือบ ชิ้นงานมีคุณภาพดี เนื้อแกร่ง เพราะเผาด้วยอุณหภูมิสูงมาก เนื้อดินละเอียด สีออกขาวนวลจนถึงสีเหลืองเทา ที่ผิวภาชนะมีการเคลือบน้ำเคลือบรองพื้นชั้นหนึ่งก่อนจะเขียนลวดลาดแล้วเคลือบใสทับ ไม่มีสีหรือให้สีจางๆ ชั้นเคลือบใสบาง แตกรานละเอียดทั้งใบ ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นชามจานปากกว้าง ชามทรงสูงขนาดเล็ก มีการเขียนลวดลายทั้งด้านนอก และด้านใน โดยมักจะเขียนลายจีน ลายพันธุ์พฤกษา ลายปีกนก สามารถมองเห็นลวดลายที่เขียนลงไปด้วยสีดำตัดกับสีของน้ำเคลือบอย่างชัดเจน
๒. กลุ่มชิ้นงานประเภทเคลือบใส มีเนื้อดินละเอียดสีนวล มีลักษณะบอบบางมากเพราะเผาในอุณหภูมิไม่สูงมาก จึงเปราะและแตกหักได้ง่าย มักผลิตชิ้นงานเป็นชาม กระปุก ขวดปากบานทรงน้ำเต้า กระปุกเต้าปูน เต้าปูน ตะเกียง ตุ๊กตารูปสัตว์ ถ้วยขนาดเล็ก เป็นต้น เคลือบด้วยน้ำเคลือบสีเทาหม่นค่อนไปทางสีฟ้า
๓. กลุ่มชิ้นงานประเภทเคลือบเขียว สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ เคลือบสีเขียวจากสนิมของตะกั่วหรือทองแดง มักผลิตเป็นกระปุก และพระพุทธรูป
๔. กลุ่มชิ้นงานประเภทเคลือบสีน้ำตาล บางชิ้นมีสีน้ำตาล บางชิ้นมีสีน้ำตาลค่อนข้างดำ บ้างมีสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นภาชนะประเภทไห ถ้วย ชาม แจกัน และตุ๊กตารูปสัตว์ การเคลือบไม่สม่ำเสมอ

การขุดค้นโบราณสถานเวียงกาหลง และแหล่งเตาเผาทำให้วัตถุโบราณที่เคยฝังอยู่ใต้ดินถูกขุดขึ้นมาขายให้แก่พ่อค้าวัตถุโบราณอย่างมากมายเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้คนในท้องถิ่นอย่างเช่น คุณทัน ธิจิตตัง ห่วงใยกับสิ่งที่เกิดขึ้น สมบัติที่ถูกสร้างขึ้นมาจากบุรุษคงจะไม่หลงเหลือ จึงทำให้เขาคิดสร้างเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงขึ้นมาใหม่ และพลิกฟื้นภูมิปัญญาของชาวเวียงกาหลงแต่โบราณให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้กลุ่มสล่าทันถือเป็นกลุ่มผู้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในตำบเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงได้มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วประเทศและนานาชนิดอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลุ่มสล่าเครื่องเคลือบดินเผาได้ผลิตแจกันเครื่องเคลือบดินเผาขนาดใหญ่ ผลิตจากดินดำหรือดินภูเขาไฟอายุนับล้านปีถวายเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (พระราชอิสรยศในเวลานั้น) ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเยือนงานพืชสวนโลก ในงานมหกรรมพิืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙ แจกันเครื่องเคลือบดินเผาที่กลุ่มสล่าเวียงกาหลงและวิสาหกิจชุมชนเวียงกาหลงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเจ้าชายจิกมีฯ นั้นใช้เวลาผลิตนานกว่า ๑๒ ปี โดยใช้ชื่่อแจกันว่า 'บูรณะฆฏะมหาคงคง' (ออกเสียงว่าบูรณะกะตะมหาคงคา) หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีความสูง ๑๐๔ เซ็นติเมตร รอบวงกว้าง ๑๖๑ เซ็นติเมตร บนแจกันมีลวดลายที่เป็นเรื่องราวของแม่กาเผือก หรือท้าวฆติกามหาพรหม มารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ มีมูลค่ากว่าห้าแสนบาท








เตาเผาโบราณทุ่งม่าน พ่ออุ้ยทา

คุณทัน ธิจิตตัง ผญาดีศรีล้านนา ปี ๒๕๕๓


เส้นทางท่องเที่ยวเวียงกาหลง เตาเผาสล่าทัน เชียงราย

เตาเผาสล่าทัน...ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๓ บ้านทุ่งม่าน ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นเตาเผาที่ตั้งขึ้นโดยคุณทัน ธิจิตตัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖โดยได้แรงบันดาลใจจากการที่มีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาในเวียงกาหลง การขุดค้นในครั้งนั้นสร้างความแตกตื่นให้แก่ชาวบ้าน และหันมาขุดหาเครื่องปั้นดินเผาตามแหล่งเตาเผาโบราณต่างๆ มากมายเพื่อซื้อขายให้แก่พ่อค้าวัตถุโบราณ คุณทันจึงเกิดความรู้สึกตระหนักถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และหวงแหนในศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาศิลปวิทยาการที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ จึงเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเวียงกาหลง และกรรมวิธีผลิตเครื่องเคลือบดินเผาตามแบบโบราณทั้งรูปทรง เอกลักษณ์ ลวดลาย กรรมวิธีในการปั้น วิธีเผาล้วนแต่ใช้กรรมวิธีแบบโบราณทั้งสิ้น คุณทันได้ทดลองพัฒนากรรมวิธีต่างๆ มาด้วยตนเองจนได้รับคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับ ๔ ดาว ในปี พ.ศ.๒๕๔๖

เอกลักษณ์ของเครื่องเคลือบดินเผาจากกลุ่มสล่าทัน คือ ชิ้นงานมีความประณีต เนื้องานมีความเบาบางเนื่องจากเนื้อดินเป็นดินดำที่มีเฉพาะที่เวียงกาหลงซึ่งสามารถทนความร้อนสูง สามารถเผาโดยใช้อุณหภูมิสูงได้โดยไม่เสียรูปทรง นอกจากนั้นยังมีลวดลายที่ตกแต่งประดับบนชิ้นงานที่สัมพันธุ์กับคติความเชื่อถือ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มคือ
กลุ่มสัตว์มงคล เช่น ลายปลาตะเพียน ลายกิเลน ลายม้ามังกร ลายมังกร ฯลฯ โดยมีคติดความเชื่อในเรื่องมงคลโชคลาภ ความอยู่เย็นเป็นสุข มงคลมหาอำนาจ ความแข็งแกร่ง อายุยืนยาว เป็นต้น
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มพฤกษามงคล เช่น ลายก้านขด ลายบัวเล็บช้าง ลายผักกูด เป็นต้น มีคคิความเชื่อเกี่ยวกับการไม่มีอุปสรรค ความมั่นคง ความสะดวกราบรื่น
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มลวดลายที่มีความหมายตามตำนานท้องถิ่น คือ ลายตัวกา และลายดอกกาหลง ซึ่งเป็นลวดลายที่ได้มาจากตำนานแม่กาเผือก มีความหมายถึงความเป็นสิริมงคล ความสงบ

จากคนท้องถิ่นที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผามาก่อน คุณทัน ธิจิตตัง ใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับเครื่องเคลือบดินเผา 18 ปี เครื่องเคลือบดินเผาที่ผลิตออกมาจึงไม่ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม แต่ด้วยจิตสำนึกหวงแหนในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในท้องถิ่น คุณทัน ธิจิตตังได้ถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมมาให้แก่ลูกศิษย์ลูกหามากมายจนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ "ผญาดีศรีล้านนา ปี ๒๕๕๓" จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช).

ไปเยี่ยมชม และพูดคุยกับลุงทันได้นะค่ะ ท่านใจดีมาก ขอบคุณสำหรับข้อมูลและเรื่องราวของโบราณที่ลุงทันได้อธิบายให้ฟังและที่สำคัญสิ่งของโบราณมีคุณค่าควรอนุรักษ์และรักษา นอกจากเตาเผาสล่าทันแล้วไม่ไกลจากกันก็จะเป็นเตาเผาโบราณทุ่งม่านพ่ออุ้ยทาและเตาเผาลุงศรี ทั้ง 2 เตาตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน


คุณทัน ธิจิตตัง ผญาดีศรีล้านนา ปี ๒๕๕๓













เส้นทางท่องเที่ยวเวียงกาหลง โบราณสถานเวียงกาหลง เชียงราย

โบราณสถานเวียงกาหลง...ตั้งอยู่บนเทือกเขาดอยหลวงในเขตเทือกเขาดอยหลวง บ้านป่าส้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลหัวฝาย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันหลงเหลือร่อยรอยของคูน้ำคันดินอยู่บางส่วนที่ยังเห็นคูน้ำลึกและคันดินที่เคยเป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกศัตรู และสัตว์ร้าย

ลักษณะผังเมืองของเมืองโบราณเวียงกาหลง มีรูปร่างยาวรี ไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเหมือนเมืองโบราณในยุคหลัง แสดงให้เห็นถึงอายุของการสร้างเมืองว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณในยุคแรกที่มักจะสร้างตามรูปแบบหอยสังข์ เช่น เมืองลำพูน เมืองแพร่ หรือ ศรีสัชนาลัย เป็นต้น

ภายในโบราณสถานเวียงกาหลงมี วัดเวียงกาหลง พระยอดขุนพล ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่เวียงกาหลง และพิพิธภัณฑ์เวียงกาหลง จัดแสดงภาพถ่าย และเครื่องเคลือบดินเผาโบราณเวียงกาหลง

พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณเวียงกาหลง
ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่เวียงกาหลง
เจ้าพ่อเจ้าแม่เวียงกาหลง

วัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง
คูน้ำ คันดินโบราณ






เจ้าพ่อเจ้าแม่เวียงกาหลง เวียงป่าเป้า เชียงราย

บรรพบุรุษ รักษาบ้านคุ้มครองเมือง อยู่เย็น เป็นสุข พรหมเทพเทวดา-เจ้าเมือง-บรรพบุรุษ ผู้คุ้มครองปกปักรักษา "เมืองโบราณเวียงกาหลง" สถานศักดิ์สิทธิ์นิมิตธรรม ตำนานพญากาเผือกขาวพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เมื่อใดเหตุปัจจัยพร้อมก็จะสำแดงตำนานให้ลูกหลานคณะศรัทธาพุทธบริษัทได้มาอยู่เรียนรู้จนเข้าใจแล้วเล่าขานสืบต่อกันไปเพื่อไม่ให้ขาดตอน มีการเจริญขึ้นแล้วเสื่อมลง มีคนอาศัยแล้วถูกทิ้งรกร้างบ้าง สลับสับเปลี่ยนตามกาลเวลา สืบมาช้านานหลายยุคหลายสมัย 

ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่พิทักษ์รักษาดูแลเวียงกาหลงให้คงความเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมดินแดนแห่งพุทธภูมิ แผ่นดินถิ่นกาขาว ชาวศรีวิไล เป็นสถานที่รื้อฟื้นตำนานธรรมแม่กาเผือกเป็นแหล่งสาธิตศึกษาเรียนรู้อุดมการณ์พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ กตัญญู เมตตา เสียสละ เป็นที่เพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของผู้อธิษฐาน สร้างบารมีตามสายบุญพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ จะได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แล้วมุ่งมั่นปรารถนาเข้าถึงมรรคผล-พระนิพพาน เป็นที่เผยแพร่ทำนุ บำรุงรักษา สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาจนสิ้นอายุกาล ๕,๐๐๐ พระวัสสา นิมิตจะปรากฏตราบถึงวาระแห่งพระพุทธศาสนาพระศรีอารีย์ พระพุทธเจ้าลูกแม่กาขาวองค์ที่ ๕ ที่จะมาตรัสรู้โปรดโลกโลกาเป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัปป์นี้อานิสงส์แห่งการกราบสักการะ ปกบ้านคุ้มเมือง อยู่เย็น เป็นสุข






เส้นทางท่องเที่ยวเวียงกาหลง สวนศิลป์หลากสีนิตยา ตามวงค์ เชียงราย

สวนศิลป์หลากสีของนิตยา ตามวงค์... ตั้งอยู่ที่ ๑๗/๑๑ บ้านดง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย คุณนิตยา ตามวงค์ เป็นศิลปินหญิงชาวเชียงราย สาขาทัศนศิลป์ การทำงานทางศิลปะเป็นอาชีพที่คุณนิตยาทำแล้วมีความสุขที่สุด ในบรรยากาศที่เงียบสงบของบ้านไม้ที่แวดล้อมด้วยทุ่งนาเวียงกาหลง และสวนดอกไม้หลากหลายที่คุณนิตยาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จากมุมบ้านสามารถมองเห็นพระธาตุพระเจ้าหลายที่ตั้งอยู่บนเขาได้อย่างสวยงาม ผลงานจิตรกรรมของคุณนิตยา มักจะเป็นภาพดอกไม้ที่สวยงามในเชิงสัญลักษณ์ที่บอกเล่าทัศนะของเธอที่มีต่อชีวิต และสังคมอย่างงดงามอ่อนช้อยด้วยสายตาของศิลปินหญิงชาวเชียงราย

ภายในบริเวณบ้าน นอกจากจะเป็นสตูดิโอในการทำงานศิลปะแล้ว สวนศิลป์หลากสียังเปิดให้บริการห้องอบไอน้ำสมุนไพรในช่วงฤดูหนาว และอีกไม่นานจะเปิดศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะให้แก่เด็กๆ ในชุมชน โดยจะมีห้องสมุดศิลปะ ห้องเรียนศิลปะ และที่แสดงงานศิลปะสำหรับเด็ก ผู้สนใจเข้าชมนัดหมายล่วงหน้าได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๕๓-๗๐๔๑๒๔ และ ๐๘๑-๖๐๒๖๒๑๙ สำหรับระยะทางไปสวนศิลป์หลากสีขับเข้าไป 2 กิโลเมตรจากถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย