วัดพระแก้ว เมือง เชียงราย

วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย เดิมเป็นวัดราษฏร์...........ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง  เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2521 มีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา "วัดพระแก้ว" เดิมชื่อ "วัดป่าเยี้ยหรือป่าญะ" เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีไม้เยี้ยะซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคล้ายไม้ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม นิยมนำมาใช้ทำหน้าไม้และคันธนู ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดป่าเยี้ยะ จนกระทั่ง พ.ศ.1977 ฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์วัดป่าเยี้ยะ พบพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองอยู่ภายใน จึงนำมาประดิษฐานไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบางแห่งหลุดกะเทาะออกแลเห็นเนื้อแก้วสีเขียวภายใน จึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์พบพระพุทธรูปทำด้วยแก้วมรกต มีพุทธลักษณะงดงามมาก เป็นที่เลื่องลือและโจษขานกันทั่วไป ความทราบถึงเจ้าเมือง จึงมีใบบอกไปยังพระเจ้าสามฝั่งแกนผู้ครองอาณาจักรล้านนา ซึ่งราชธานีที่เชียงใหม่ สั่งให้อัญเชิญไปยังเชียงใหม่ หลังจากนั้นมาพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทร์ ธนบุรี จนในที่สุดประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งปัจจุบัน การค้นพบพระแก้วมรกตในครั้งนั้น ทำให้วัดป่าเยี้ยะได้รับการขนานนามใหม่ว่า "วัดพระแก้ว" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา...

ภายในวัดพระแก้ว นอกจากพระอุโบสถ ซึ่งเป็นวิหารทรงเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ ยังมีหอพระหยก ซึ่งเป็นอาคารทรงล้านนาโบราณ ภายในประดิษฐาน "พระพุทธรัตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" ก็ยังมีโฮงหลวงแสงแก้ว ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงพระพุทธรูปที่สำคัญของวัด เช่น พระเจ้าทันใจ พระโปรดโลก พระพุทธศรีเชียงราย รวมทั้งแสดงศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัยให้เข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-17.00 น.

พระอุโบสถ
หอพระหยก
โฮงหลวงแสงแก้ว

พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้สร้างเมืองเชียงราย

พระพุทธรัตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล 
พระเจ้าล้านทอง

ศาลาพระเจ้าทันใจ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น