|
พระอุปคุตที่พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุุคุ้มเวียงสรวย |
|
พระอุปคุต งานปอยหลวงวัดป่าลัน |
ประวัติความเป็นมา
"พระอุปคุต" เป็นภาษาบาลี ขณะที่ภาษาสันสกฤตเขียนว่า "อุปคุปต์" ซึ่งตรงกับภาษาที่พี่น้องชาวไตยบางท้องถิ่น ขานนามท่านว่า "ส่างอุปคุป" โดยมีความหมายว่า "ผู้คุ้มครองมั่นคง"
ชาวล้านนารู้จักอุปคุต ในนามผู้ปกป้องคุ้มครองภัย โดยเฉพาะการมีปอยหลวง งานพิธีกรรมของส่วนรวม จะมีการอาราธนาพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำ มาคุ้มครองการจัดงาน เพื่อมิให้เกิดเหตุเภทภัย และให้งานลุล่วงไปด้วยดี นอกจากจะเรียกว่า "พระอุปคุต" แล้วยังมีการเรียก "พระอุปคุตเถระ" หรือ "พระเถรอุปคุต"
ในบางท้องถิ่นล้านนา เชื่อว่า พระอุปคุตจะตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นสารเณรน้อย ขึ้นมาบิณฑบาตในวันเป็งปุ๊ด หรือ เพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธพอดี) เริ่มตั้งแต่ตีหนึ่งของวันพุธ ผู้คนจึงมักเห็นสามเณรน้อยเดินบินฑบาตไปตามถนน ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง ตลอดจนถนนหนทางตามริมน้ำท่าน้ำต่างๆ จนกระทั่งตี๋นฟ้ายก หรือแสงเงินแสงทองออกมา จึงเนรมิตกายหายไป
พระอุปคุต เป็นพระอรหันต์สาวก ที่ทรงมหิทธานุภาพ ชอบอยู่ตามลำพังผู้เดียว ไม่ชอบเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เป็นพระอรหันต์หลังสมัยพุทธกาล เพราะไม่พบประวัติท่านในพระไตรปิฏก แต่ปรากฏในจารึกพระเจ้าอโศก ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อร้อยกว่าปี หลังพุทธปรินิพพาน และปรากฏอยู่ในพระปฐมสมโพธิกถา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยอยู่ปริจเฉทที่ ๒๘ ที่มีชื่อว่า มารพันธ-ปริวรรต
ตามประวัติกล่าวว่า พระอุปคุต เกิดในตระกูลวานิช บิดาประกอบอาชีพค้าเครื่องหอม อยู่ที่เมืองมถุรา มีพี่น้องทั้งหมดรวมทั้งตัวท่านเองสามคน เดิมบิดาของท่านได้ให้คำสัญญากับพระสาณวารี (สาณสัมภูติ) หากมีบุตรชายจะให้อุปสมบทในพุทธศาสนา แต่ก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา กระทั่งมีบุตรคนที่สาม คือ ตัวท่าน ซึ่งมีโอกาสฟังธรรมจากพระสาณวารี จนเกิดดวงตาเห็นธรรม ประสงค์จะอุปสมบท บิดาท่านจึงต้องจำยอมอนุญาต เมื่อบวชแล้วได้เจริญวิปัสสนาโดยลำดับ จนบรรลุพระอรหันต์และได้เป็นอาจารย์ ทางสมถะกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีชื่อที่สุดในสมัยนั้น ดังปรากฏมีพระอรหันต์เป็นศิษย์ของท่านถึง ๑๘,๐๐๐ รูป
เชื่อกันว่า หากผู้ใดได้ใส่บาตรพระอุปคุต มักทำให้ร่ำรวย ปราศจากภัยทั้งปวง มีสมาธิจิตดี ไม่หลงลืม ชีวิตเป็นสุข ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้สร้าง พระอุปคุตปางต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น ปางล้วงบาตร เชื่อว่า ให้คุณทางทรัพย์สินเงินทอง ปางสมาธิ เชื่อว่า ให้คุณด้านสติปัญญาที่คมกล้า เฉียบแหลม
วิธีสักการะ
นิยมบูชาบนฐานรองรับกลางภาชนะใส่น้ำ เป็นการจำลองคล้ายกับท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร แล้วใช้ดอกมะลิลอยในน้ำบูชาและต้องตั้งต่ำกว่าพระพุทธ เนื่องจากเป็น สาวกของพระพุทธเจ้า
คำบูชาขอลาภพระอุปคุต (นะโม ๓ จบ)
มหาอุปคุตโต จะมหาลาโภ พุทโธลาภัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ราชาปุริโส อิถีโยมานัง นะโมโจรา เมตตาจิตตัง เอหิจิตติจิตตัง ปิยังมะมะ สะเทวะกัง สะพรหมมะกัง มะนุสสานัง
สัพพะลาภัง ภะวันตุเม ฯ เอหิจิตติ จิตตังพันธะนัง อุปะคุตะ จะมหาเถโร พุทธะสาวะกะ อานุภาเวนะ มาระวิชะยะ นิระภะยะ เตชะปุญณะตา จะเทวะตานัมปิ มะนุสสานันปิ เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ อิมังกายะ พันธะนัง อะทิถามิ ปะอัยยิสสุตัง อุปัจสะอิ ฯ