วันสับปะรดนางแล ภูแล ลิ้นจี่ และของดีเมืองเชียงราย

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย  จัดงานวันสับปะรดนางแล ภูแล ลิ้นจี่ และของดีเมืองเชียงราย ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 24 พ.ค - 2 มิ.ย. 56 ณ สวนไม้งามริมน้ำกก อำเภอเมืองเชียงราย..

การจัดงานวันสับปะรดนางแล ภูแล ลิ้นจี่ จะจัดเป็นประจำทุกปีเมื่อลิ้นจี่ของชาวสวนสุก ภายในงานมีการจัดประกวดผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลิ้นจี่ สับปะรด ฟักทอง การประกวดธิดาชาวสวน การประกวดแด๊นเซอร์ที่เต้นกันอย่างเต็มที่ การประกวดรำวงย้อนยุคของแต่ละอำเภอที่ส่งเข้าประกวด การแสดงบนเวทีอีกมากมายให้ชมทุกคืนตลอดการจัดงาน มีสินค้าอุปโภค บริโภค ให้เลือกซื้อ เลือกชม และการจัดนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาชีพของเกษตรกร..

ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเดินเที่ยวงานวันสับปะรดนางแล ภูแล ลิ้นจี่ และของดีเมืองเชียงราย แนะนำให้เดินในตอนเย็นไปจนถึงกลางคืน อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อน หรือถ้าอยากออกกำลังกายก็สามารถออกไปเต้นรำวงย้อนยุคได้..


มีหลากหลายพันธุ์ให้เลือกซื้อ

สับปะรดรสชาดหวาน
ประกวดผลผลิตทางการเกษตร



เวทีประกวดรำวงย้อนยุค
ประกวดรำวงย้อนยุค
ประกวดแด๊นเซอร์







พระธาตุจอมแจ้ง แม่สรวย เชียงราย

วัดพระธาตุจอมแจ้ง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 12 ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณกาล ชาวบ้านเรียกว่า "วัดพระธาตุจอมแจ้ง" เพราะมีพระธาตุอยู่ก่อนแล้ว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในบางคืนชาวบ้านบางท่านจะเห็นแสงของพระธาตุออกจากองค์พระธาตุวนเวียนไปมา และชาวบ้านต่างเคารพบูชาองค์พระธาตุจอมแจ้งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงเทศกาลทำนาปีไหนฟ้าฝนไม่อำนวย ชาวบ้านนิยมนำดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมาบูชาอธิฐานขอให้ฝนตก มักจะสำเร็จสมปรารถนาของชาวบ้านสมัยนั้น จึงมีการทำบุญเป็นประเพณี ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ตรงกับวันวิสาขบูชา เป็นประจำทุกปีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน...

วัดพระธาตุจอมเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่ามีพระมหาเถระเจ้ารูปหนึ่งได้เดินทางจาริกเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชน เพื่อเป็นการประกาศพุทธศาสนา มาจนถึงสถานที่แห่งนี้ถึงรุ่งสว่างพอดี เมื่อปี พ.ศ. 2001 จึงได้ขอวานตาแก่คนหนึ่งที่ปฏิบัติธรรมเฝ้ารักษาพระธาตุแห่งนี้ ให้ไปตักน้ำที่แม่น้ำช่วยขึ้นมาล้างหน้า และได้พักอยู่ที่นี่ 7 วัน ก่อนที่จะเดินทางต่อไป ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุให้ตาแก่คนนั้นนำไปบรรจุลงในพระธาตุจนเป็นที่สำเร็จลุล่วงแล้ว จึงเดินทางจาริกต่อไปและยังได้ทำนายไว้ว่าสมัยต่อไปข้างหน้านี้ ชาวบ้านจะเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า "พระธาตุจอมแจ้ง"

เชื่อกันว่า ถ้าได้กราบไหว้พระธาตุจอมแจ้งและตั้งจิตอธิฐานท่านจะประสบความสำเร็จ และรู้แจ้งเห็นจริง ดังนั้นทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จะมีการจัดงานบุญประเพณีทุกปี...

การเดินทางไปวัดพระธาตุจอมแจ้ง เมื่อมาถึงหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สรวยแล้ววัดพระธาตุจอมแจ้งจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สรวยจะมีซอยเข้าวัดตรงหน้าที่ว่าการอำเภอแม่สรวย ถนนแคบนิดหนึ่ง เพราะเป็นถนนในหมู่บ้าน ขับเข้าไปไม่ไกลเท่าไร ระยะทาง 300 เมตร ถนนขึ้นวัดพระธาตุจอมแจ้งสูง โค้ง แคบ และชันหรือจะออกกำลังขาเดินขึ้นตรงบันไดหน้าวัดก็ได้สูงเหมือนกัน..

กรณีมาจากเชียงรายจะเจอป้ายนี้หน้าอำเภอแม่สรวย
ระยะทาง 300 เมตร จากปากซอยเข้าวัด
ป้ายบอกทางเข้าพระธาตุจอมแจ้ง
ถนนขึ้นพระธาตุจอมแจ้ง  สูง โค้ง  ชัน แคบ
ทางเดินขึ้นพระธาตุ สูง ชัน แต่ไม่อันตราย

พระธาตุจอมแจ้ง

วัดพระธาตุจอมแจ้ง







อุโมงค์ถ้ำพระธาตุจอมผ่อ เวียงป่าเป้า เชียงราย

วัดอรัญญวิเวกคีรี (จอมผ่อ) ตั้งอยู่บนม่อนดอย ร่มรื่นด้วยต้นไม้ และสวนสมุนไพรของวัด  นอกจากจะมีพระธาตุจอมผ่อ 1 ใน 9 จอมที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายให้สักการะกราบไหว้อิ่มบุญแล้ว ภายในบริเวณของวัดอรัญญวิเวกคีรี ยังมีอุโมงค์รอดท้องพญานาค ออกปากพระราหู ซึ่งอยู่ที่ชั้นล่างของวิหารวัด ด้านในอุโมงค์ถ้ำบรรยากาศเย็นสบายมีหลายทางให้เดินชม ภายอุโมงค์ถ้ำจะเป็นภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวๆ ต่างๆ มากมายที่ผ่านมา เช่น บุคคลสำคัญในอดีต พ่อเมือง เจ้าเมือง ประวัติศาสตร์การสร้างเมือง ประเพณีต่างๆ ของทางภาคเหนือ เดือนทางภาคเหนือ ชนเผ่าต่างๆ ภาพเปรียบเปรยระหว่างนรกกับสวรรค์ เป็นต้น

อุโมงค์รอดท้องพญานาค ออกปากพระราหู เป็นสิ่งที่ทางวัดเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ และคงยังต้องใช้เวลาปรับปรุง ตกแต่งอีกหลายที่ มีบางภาพที่ยังวาดไม่เสร็จ มีโอกาสมาสักการะพระธาตุจอมผ่อแล้ว ถ้ามีเวลาเหลือพอ แนะนำไปเดินดูภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาได้ค่ะ..

ชั้นล่างเป็นอุโมงค์ถ้ำ
บรรไดไปถ้ำอยู่ด้านข้างของพระพุทธรูป
ทางเดินลงไปถ้ำอยู่ด้านในของวิหาร
อุโมงค์ถ้ำที่อยู่ชั้นล่างของวัด
ทางเดินในอุโมงค์ถ้ำ
ภาพวาดในอุโมงค์ถ้ำ
ปากพระราหู




พระธาตุจอมผ่อ เวียงป่าเป้า เชียงราย

พระธาตุดอยจอมผ่อ เป็นพระธาตุสำคัญ ๑ ใน ๙ ของจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ที่ วัดอรัญญวิเวกคีรี (จอมผ่อ) บ้านดง- หล่ายหน้า หมู่ ๗ ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 2 กิโลเมตรจากปากทางถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ วัดพระธาตุม่อนจอมผ่อให้เข้าที่ป้ายบอกทางของเทศบาลตำบลเวียงป่าเป้า ซอย ๑๔  ขับไปตามป้ายบอกทางของวัด ถนนลาดยาง สะดวกในการเดินทาง

ตามหลักฐานเอกสารในทำเนียบการตั้งวัดของจังหวัดเชียงราย ระบุว่าได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๓ แต่ยังไม่พบหลักฐานอื่นใดอีก นอกจากหลักฐานทางโบราณวัตถุ เช่น เจดีย์ พระพุทธรูป กองหิน กองอิฐที่สันนิษฐานได้ว่า ตรงนี้เคยเป็นโบสถ์ เป็นวิหารมาก่อนเท่านั้น จากคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อนกล่าวว่า ที่วัดม่อนจอมผ่อนี้ เดิมมีพระพุทธรูปทองเหลืองทองแดง องค์เล็กองค์ใหญ่จำนวนมาก พิงอยู่ตามต้นไม้บ้าง วางอยู่บนกองอิฐกองดินบ้าง ไม่มีใครสนใจ เมื่อทางการได้เข้าไปสำรวจโบราณวัตถุ ประกอบกับทางวัดไม่มีผู้ดูแลที่แน่นอน จึงได้เก็บเอาพระพุทธรูปที่เป็นโลหะชนิดต่างๆ ไปรวบรวมไว้จนหมดไม่เหลือแม้แต่องค์เดียว ในระหว่างการรื้อเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ยังพบวัตถุมงคลอีกมากมายพร้อมแผ่นเงินจารึกประวัติการสร้างเจดีย์ที่จานด้วยเหล็กจานเป็นภาษาล้านนา จึงได้บูรณะเรื่อยมา จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๖ และได้จัดให้มีประเพณีสงฆ์น้ำพระธาตุจอมผ่อทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  

งานบุญประเพณีประจำปีของวัดอรัญญวิเวกคีรี 
  1. งานสรงน้ำพระธาตุ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ (เดือนสี่ในปฏิทิน)
  2. งานทำบุญสลากภัตต์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ เหนือ
  3. งานเทศมหาชาติ ขึ้น ๗-๘ ค่ำ เดือนยี่เหนือ และทุกงานของเทศกาลประเพณีประจำปี

เมื่อกราบไหว้พระธาตุ และพระเจ้าทันใจพุทธชยันตี สำหรับพระเจ้าทันใจใช้เวลาก่อสร้าง 1 วันเสร็จ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เวลา ๖ โมงเช้า - ๖ โมงเย็น ทางวัดยังมีบริการดื่่มน้ำต้มสมุนไพร แก้ปวดเมื่อยฟรี น้ำขิงและขนมฟรี เลือกชม เลือกดู เช่าบูชา วัตถุมงคลต่างๆ ปิดทองก้อนอิฐมงคล ๙ จอม ผูกผ้ายอดฉัตรพระเจ้าทันใจ และถ้าไม่รีบร้อนจนเกินไปแนะนำเข้าชมอุโมงค์ลอดท้องพญานาค ออกปากพระราหู

คำบูชาพระธาตุจอมผ่อ

อิทัง วันทามิ เจติยัง สักกัจจัง วะระสัญญิตัง เอเตนะ มะมะ บุญเญนะ สะทา โสตถี ภะวันตุเม       

ป้ายบอกระยะทาง  2 กม. จากถนนสายเชียงใหม่ - เชียงราย
ป้ายปากซอยเข้าวัด
พระธาตุจอมผ่อ
วัดอรัญญวิเวกคีรี
พระเจ้าทันใจ สร้างเสร็จใน 1 วัน
บรรยากาศของวัด
เช่าบูชา วัตถุมงคลต่างๆ 

พระหน้อยเติมบุญ
หม้อต้มสมุนไพร ๙ จอม


แผนที่ท่องเที่ยวอิ่มบุญสักการะพระธาตุ ๙ จอม





พระอุปคุต


พระอุปคุตที่พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุุคุ้มเวียงสรวย
พระอุปคุต งานปอยหลวงวัดป่าลัน

ประวัติความเป็นมา

"พระอุปคุต" เป็นภาษาบาลี ขณะที่ภาษาสันสกฤตเขียนว่า "อุปคุปต์" ซึ่งตรงกับภาษาที่พี่น้องชาวไตยบางท้องถิ่น ขานนามท่านว่า "ส่างอุปคุป" โดยมีความหมายว่า "ผู้คุ้มครองมั่นคง"
ชาวล้านนารู้จักอุปคุต ในนามผู้ปกป้องคุ้มครองภัย โดยเฉพาะการมีปอยหลวง งานพิธีกรรมของส่วนรวม จะมีการอาราธนาพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำ มาคุ้มครองการจัดงาน เพื่อมิให้เกิดเหตุเภทภัย และให้งานลุล่วงไปด้วยดี นอกจากจะเรียกว่า "พระอุปคุต" แล้วยังมีการเรียก "พระอุปคุตเถระ" หรือ "พระเถรอุปคุต"

ในบางท้องถิ่นล้านนา เชื่อว่า พระอุปคุตจะตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นสารเณรน้อย ขึ้นมาบิณฑบาตในวันเป็งปุ๊ด หรือ เพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธพอดี) เริ่มตั้งแต่ตีหนึ่งของวันพุธ ผู้คนจึงมักเห็นสามเณรน้อยเดินบินฑบาตไปตามถนน ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง ตลอดจนถนนหนทางตามริมน้ำท่าน้ำต่างๆ จนกระทั่งตี๋นฟ้ายก หรือแสงเงินแสงทองออกมา จึงเนรมิตกายหายไป

พระอุปคุต เป็นพระอรหันต์สาวก ที่ทรงมหิทธานุภาพ ชอบอยู่ตามลำพังผู้เดียว ไม่ชอบเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เป็นพระอรหันต์หลังสมัยพุทธกาล เพราะไม่พบประวัติท่านในพระไตรปิฏก แต่ปรากฏในจารึกพระเจ้าอโศก ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อร้อยกว่าปี หลังพุทธปรินิพพาน และปรากฏอยู่ในพระปฐมสมโพธิกถา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยอยู่ปริจเฉทที่ ๒๘ ที่มีชื่อว่า มารพันธ-ปริวรรต

ตามประวัติกล่าวว่า พระอุปคุต เกิดในตระกูลวานิช บิดาประกอบอาชีพค้าเครื่องหอม อยู่ที่เมืองมถุรา มีพี่น้องทั้งหมดรวมทั้งตัวท่านเองสามคน เดิมบิดาของท่านได้ให้คำสัญญากับพระสาณวารี (สาณสัมภูติ) หากมีบุตรชายจะให้อุปสมบทในพุทธศาสนา แต่ก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา กระทั่งมีบุตรคนที่สาม คือ ตัวท่าน ซึ่งมีโอกาสฟังธรรมจากพระสาณวารี จนเกิดดวงตาเห็นธรรม ประสงค์จะอุปสมบท บิดาท่านจึงต้องจำยอมอนุญาต เมื่อบวชแล้วได้เจริญวิปัสสนาโดยลำดับ จนบรรลุพระอรหันต์และได้เป็นอาจารย์ ทางสมถะกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีชื่อที่สุดในสมัยนั้น ดังปรากฏมีพระอรหันต์เป็นศิษย์ของท่านถึง ๑๘,๐๐๐ รูป

เชื่อกันว่า หากผู้ใดได้ใส่บาตรพระอุปคุต มักทำให้ร่ำรวย ปราศจากภัยทั้งปวง มีสมาธิจิตดี ไม่หลงลืม ชีวิตเป็นสุข ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้สร้าง พระอุปคุตปางต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น ปางล้วงบาตร เชื่อว่า ให้คุณทางทรัพย์สินเงินทอง ปางสมาธิ เชื่อว่า ให้คุณด้านสติปัญญาที่คมกล้า เฉียบแหลม

วิธีสักการะ
นิยมบูชาบนฐานรองรับกลางภาชนะใส่น้ำ เป็นการจำลองคล้ายกับท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร แล้วใช้ดอกมะลิลอยในน้ำบูชาและต้องตั้งต่ำกว่าพระพุทธ เนื่องจากเป็น สาวกของพระพุทธเจ้า

คำบูชาขอลาภพระอุปคุต (นะโม ๓ จบ)
มหาอุปคุตโต จะมหาลาโภ พุทโธลาภัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ราชาปุริโส อิถีโยมานัง นะโมโจรา เมตตาจิตตัง เอหิจิตติจิตตัง ปิยังมะมะ สะเทวะกัง สะพรหมมะกัง มะนุสสานัง
สัพพะลาภัง ภะวันตุเม ฯ เอหิจิตติ จิตตังพันธะนัง อุปะคุตะ จะมหาเถโร พุทธะสาวะกะ อานุภาเวนะ มาระวิชะยะ นิระภะยะ เตชะปุญณะตา จะเทวะตานัมปิ มะนุสสานันปิ เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ อิมังกายะ พันธะนัง อะทิถามิ ปะอัยยิสสุตัง อุปัจสะอิ ฯ



ปอยหลวงวัดดินดำ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

งานปอยหลวงตัดหวายฝังลูกนิมิต โดยทั่วไปไม่ได้มีการจัดขึ้นมาบ่อยนักเหมือนงานอื่นๆ และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปร่วมทำบุญและบูชาลูกนิมิตลูกเล็กๆ ที่ทางวัดได้จัดไว้สำหรับผู้มีจิตศรัทธาได้บูชาลูกละ 100 บาท ส่วนธูปเทียน แผ่นทอง บูชา ชุดละ 20 บาท สำหรับนำไปบูชาและปิดทองลูกนิมิตทั้ง 9 ลูก ในงานปอยหลวงฉลองพระอุโบสถ ปิดทอง และตัดหวายฝังลูกนิมิต ที่วัดดินดำ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยงานจัดตั้งแต่วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม 2556

ส่วนลูกนิมิตลูกเล็กที่บูชาเมื่อปิดทองเสร็จ ตั้งจิตอธิฐานแล้วโยนลงในหลุมลูกนิมิตลูกต้น สำหรับลูกนิมิต จะมีอยู่ด้วยกัน 9 ลูก โดยลูกต้น จะอยู่กลางโบสถ์ของวัดส่วนอีก 8 ลูก จะวางเรียงรายรอบพระวิหารตามทิศ และลูกนิมิตทุกลูกก็จะมีคำอธิฐานปิดทองลูกนิมิตให้อ่านด้วย...งานปอยหลวงโดยทั่วไปก็จะจัดเหมือนกันเกือบทุกวัด ที่ขาดไม่ได้คือ การฟ้อนโชว์จากวัดต่างๆ ซอ มีทุกวัด และผู้ที่ตั้งตารอดูซอ คงหนีไม่พ้นผู้เฒ่า ผู้แก่ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลางคืนก็แล้วแต่ว่าแต่ละวัดจะจัดอะไร เช่น รำวงย้อนยุค มวย ลิเก หนังกลางแปลง ชิงช้าสวรรค์ เป็นต้น 

ตัวอย่างของคำอธิฐานที่ทางวัดดินดำได้จัดเตรียมไว้ให้อ่าน.....ให้เริ่มลูกต้นก่อน

ปิดนิมิตลูกต้นอธิฐานว่า "ขอเดชะ บุญทาน การกุศล ปิดนิมิตอุโบสถ ทศพล เริ่มลูกต้น กลางโบสถ์ โชติตระการ เป็นนิมิต ลูกเอกเสก ประสาท งามโอภาส มาศเฉลิม เสริมสัณฐาน เป็นนิมิต เตือนตา สาธุการ ท่ามกลางงาน บุญพิธี ผูกสีมา เกิดชาติหน้า อย่ารู้เข็ญ ได้เป็นใหญ่ รูปวิไลเป็นเสน่ห์ดังเลขา" ต่อมาลูกที่ 2 วางไว้หน้าโบสถ์วิหารของวัดอธิฐานว่า "ปิดนิมิต ลูกทิศ บูรพา ให้ก้าวหน้า เกียรติยศ ปรากฏไกล" ปิดนิมิตลูกที่ 3 อธิฐานว่า "ปิดนิมิต ลูกทิศ อาคเน่ย์ ขอให้เทวาประสิทธิ์ พิศสมัย"  ปิดนิมิตลูกที่ 4 อธิฐานว่า "ปิดนิมิต ทิศทักษิณ ศักดิ์ชัย ให้สมใจ สมบัติ วัฒนา" ปิดนิมิตลูกที่ 5 อธิฐานว่า "ปิดนิมิต ลูกทิศ หรดี ขอให้ชีวิต มั่น ชันษา" ปิดนิมิตลูกที่ 6 อธิฐานว่า "ปิดนิมิต ทิศประจีน อิ่มอุรา ปรารถนา ใดได้ ดั่งใจปอง" ปิดนิมิตลูกที่ 7 อธิฐานว่า "ปิดนิมิต ทิศพายัพ ดับทุกข์โศก นิราศโรค นิราศภัย ร้ายทั้งผอง" ปิดนิมิตลูกที่ 8 อธิฐานว่า "ปิดนิมิต ทิศอุดร กรประคอง ได้เงินทอง สมหมาย ทุกรายการ" ปิดนิมิตลูกที่ 9 อธิฐานว่า "ปิดนิมิตทิศอีสาน ประการท้าย ให้สมหมาย ได้สุข ทุกสถาน รวม เก้าลูก สุกใส ใจเบิกบาน กว่าจะถึง ซึ่งนิพพาน เมื่อนั้นเทอญ"

ป้ายบอกทางเข้าวัด
ถนนในหมู่บ้าน
วัดดินดำ
พระธาตุทันใจ
ชุดบูชาลูกนิมิต และธูปเทียน
ลูกนิมิตลูกต้น
ลูกนิมิตลูกที่ ๒



บรรยากาศของงาน