วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร
วัดสวนดอก สร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอกซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น "พระอารามหลวง" เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระมหาเถระสุมน" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุ" 1 ใน 2 องค์ ที่ "พระมหาเถระสุมน" อัญเชิญมาจากสุโขทัยในปีพ.ศ.1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)
ในสมัยราชวงศ์มังรายวัดสวนดอกมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังรายบ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่าทั้งเกิดจลาจลวุ่นวายวัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไปวัดสวนดอกได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือและประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด
วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และพระประยูรญาติมาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา
วิหารหลวง มีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอกยาว 33 วา สร้างเมื่อ พ.ศ.2474-2475 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัย และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีลักษณะพิเศษ คือเป็นวิหารโถงไม่มีฝาผนังมีแต่ระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงามขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
พระเจ้าค่าคิง เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง พระเจ้ากือนาธรรมิกราชโปรดให้ช่างสร้างขึ้นด้วยทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีขนาดเท่าพระวรกายของพระองค์ขณะประทับยืน หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร ข้อมูลจากประชุมตำนานล้านนากล่าวว่า "สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา" เพื่อถวายไว้แทนพระเจ้ากือนาเมื่อครั้งทรงประชวรหนัก จึงเป็นเหตุหนึ่งของการเรียกพระนามของพระพุทธรูปที่สร้างแทนพระองค์ว่า “พระเจ้าค่าคิง”
พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1914 ในรัชกาลของพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "พระอารามหลวง" โดยโปรดเกล้าให้สร้าง "พระเจดีย์ทรงลังกา" ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาเถระสุมนได้อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 ซึ่งแต่เดิมมีเจดีย์แบบสุโขทัย (ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระเจดีย์ใหญ่แต่ได้ปรักหักพังลง พระเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478
กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ สถานที่บรรจุอัฐิ ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ถึงพระองค์สุดท้าย พระประยูรญาติ ในตระกูล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน เมื่อ พ.ศ.2452 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 ในปี พ.ศ. 2451-2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า (กู่) อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระประยูรญาติทั้งหลายตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตก (ตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ) เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในฤดูฝน น้ำก็มักจะเข้าไปท่วมขังอยู่เป็นประจำ จึงย้ายมาตั้งไว้ที่วัดสวนดอกจนตราบทุกวันนี้
กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ สถานที่บรรจุอัฐิ ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ถึงพระองค์สุดท้าย พระประยูรญาติ ในตระกูล ณ เชียงใหม่ และผู้สืบเชื้อสายสกุลเจ้าเจ็ดตน เมื่อ พ.ศ.2452 ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 ในปี พ.ศ. 2451-2452 พระราชชายาดารารัศมีทรงพิจารณาเห็นว่า (กู่) อนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระประยูรญาติทั้งหลายตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตก (ตลาดวโรรสแถวตรอกข่วงเมรุ) เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในฤดูฝน น้ำก็มักจะเข้าไปท่วมขังอยู่เป็นประจำ จึงย้ายมาตั้งไว้ที่วัดสวนดอกจนตราบทุกวันนี้
พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา |
กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ |