วังมัจฉาวัดพระธาตุแม่เจดีย์

"วังมัจฉา" หรือเรียกอีกชื่อว่า "อ่างเก็บน้ำห้วยย่าคำมา" เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์น้ำจืดและเป็นเขตอภัยทานของวัดพระธาตุแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย....เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปลาน้อยใหญ่นับล้านตัวเพราะเยอะมาก อย่างเช่น ปลานิล ปลาบึก ปลาดุก ฯลฯ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม...

สำหรับเส้นทางไปวังมัจฉาจะใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุแม่เจดีย์ ถ้าขับตรงขึ้นไปก็จะเป็นวัดพระธาตุแม่เจดีย์ วัดที่ขุดพบพระพุทธรูป 2 องค์คือ พระพุทธรูปสิงห์ 1 และ พระพุทธรูปสิงห์ 3 พระพุทธรูป 2 องค์ น้ำหนักรวม 7 กิโลกรัม พร้อมสายสังวาลย์ น้ำหนัก 2 กิโลกรัม......โดยจะมีทางแยกไปวังมัจฉา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร มีป้ายบอกเส้นทางตลอด ถนนลาดยางเป็นทางแคบ โค้ง และขึ้นเขา แต่สวย.....ไม่ควรขับเร็ว สำหรับค่าเข้าชมวังมัจฉา ที่นี่คิด 20 บาท..... เป็นรายได้เพื่อบำรุงสถานที่ ค่าอาหารปลา ค่าน้ำค่าไฟ ค่างจ้างคนงาน เป็นต้น ส่วนร้านอาหารที่วังมัจฉาจะเป็นประเภทขนม หรือมาม่าคัพ และอาหารปลา...

นอกจากการเที่ยวที่วังมัจฉาแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ภายในบริเวณเดียวกัน เช่น เขื่อนดอยงู สวนสาธารณะบ้านชุ่มเมืองเย็น สำหรับสวนสาธารณะบ้านชุ่มเมืองเย็นกำลังอยู่ในช่วงก่อสร้างและปรับปรุงสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกที่หนึ่ง ภายในสวนสาธารณะก็จะมีครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ให้ชมด้วย..
















สวนสาธารณะบ้านชุ่มเมืองเย็น



ตำนานเล่าขาน จ๊างปู๊เอกงาเดียว

อยู่ในบริเวณพระมหาเจดีย์พระบรมธาตุคุ้มเวียงสรวย ภายในเขื่อนแม่สรวย ผู้คนในท้องถิ่นเรียกขานกันทั่วไปว่า "จ๊างปู๊เอก" เป็นช้างศึกของพ่อขุนทัพคุ้มเวียงสรวย ซึ่งท่านเป็นแม่ทัพหรือขุนทัพในยุคสมัยของพ่อขุนเม็งรายมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านนาไทย....หลังจาก....บ้านเมืองสงบปราศจากการศึกสงคราม พ่อขุนทัพฯ ถูกส่งให้มาหากินหัวเมืองหรือมาปกครองหัวเมืองแม่สรวยแห่งนี้ ช้างเชือกนี้เป็นช้างศึกที่พ่อขุนทัพฯ นำไปกรำศึกสงครามมามาก จนงาซ้ายหักไปเหลือแต่งาขวาข้างเดียว ผู้คนเลยขนานนามตามลักษณะของงาที่เป็นอยู่ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น.....

คำว่า "จ๊าง" เป็นภาษาเหนือ แปลว่า "ช้าง" คำว่า "ปู๊" เป็นสรรพนามเรียกขานสัตว์เพศผู้ และคำว่า "เอก " แปลว่า "หนึ่ง" หรือแปลว่า "อันเดียวหรืองาเดียว" ต่อมาภายหลังเมื่อ "จ้างปู๊เอก" อายุมากอยู่ในวัยแก่เฒ่า ชาวเมืองจึงได้ปล่อยลงมาหากินอย่างอิสระในป่า และก็ถึงกาลล้มหรือตายลงในลำห้วยในป่า ลำห้วยแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "ห้วยปู๊เอก" ตามสรรพนามที่เรียกขานช้างเชือกนี้.....

เมืองแม่สรวย แต่โบราณนั้น ปัจจุบันกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า "คือเวียงเก่า" ตั้งอยู่ในเขตบ้านเด่นภูเวียง หมู่ที่ 14 ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย....







พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุ คุ้มเวียงสรวย

ประวัติและความเป็นมาในการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุ 
"คุ้มเวียงสรวย"

พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุ "คุ้มเวียงสรวย" แต่เดิมเคยเป็นเพียงกองก้อนอิฐมอญขนาดใหญ่ กองสุมรวมกันเป็นฐานสี่เหลี่ยม อันเป็นซากปรักหักพังของฐานพระเจดีย์เก่าแก่ ตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้านทางทิศตะวันตกของบ้าน หมู่ที่ 2ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และสถานที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของญาติโยมสาธุชนในท้องถิ่น ซึ่งเคารพนับถือสืบทอดต่อกันมาหลายช่วงอายุคน ผู้คนในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า "แป๋ฝายน้อย" (คำว่า "แป่" แปลว่า ยอดเขา หรือยอดดอย)ส่วนฐานของพระเจดีย์เก่าแก่ที่ตั้งบนยอดเขานี้ ผู้คนเรียกขานกันว่า "กู่ฝายน้อย" (คำว่า "กู่" แปลว่า เจดีย์)

ในปี พ.ศ 2544พระอาจารย์สุกรี สุเมโธ (ตุ๊เจ้าถ้ำ)จึงได้มีดำริความคิดริเริ่มในการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ฯ นี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นปูชนียะสถานและเพื่อการจรรโลงในการเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงถาวรของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้รับสังฆานุญาตจากคณะสงฆ์ นำโดยท่านพระครูสุนทรศิลปาคม เจ้าคณะตำบลแม่สรวย และได้รับความเมตตาอนุเคราะห์อุปถัมภ์ให้ความเอื้อเฟื้อในการใช้สถานที่บนยอดเขาแห่งนี้จากสำนักงานชลประทานแม่สรวย

ดังนั้นการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระมหาเจดีย์ฯ จึงเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 1กรกฏาคม พ.ศ. 2544 ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 ใต้ 10 เหนือ เป็นต้นมา และได้มีการกำหนดงานพิธีในการวางศิลาฤกษ์ของคณะสงฆ์ ในวันอาทิตย์ที่ 18  พฤศจิกายน พ.ศ.2544 ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 1 ใต้ 3 เหนือ หลังจากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ฯ ต่อเนื่องมาจวบจนเสร็จบริบูรณ์

ปัจจจุบันนี้ พระมหาเจดีย์พระบรมฐาตุ คุ้มเวียงสรวย ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 14 บ้านเด่นภูเวียง ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เนื่องเพราะในปี พ.ศ.2545ข้าราชการฝ่ายปกครองพลเรือน อำเภอแม่สรวย ได้ทำการแบ่งแยก บ้านหมู่ที่ 2 ให้เป็น 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 14 โดยถือเอาลำน้ำแม่สรวยเป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยก และในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2550 คณะสงฆ์ของอำเภอแม่สรวย ได้รับพระเมตตากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อันเป็นประมุขสงฆ์แห่งประเทศไทย ประทานองค์พระบรมสารีริกธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน 9 องค์ ..เพื่ออัญเชิญประดิษฐานบรรจุไว้ ณ ยอดพระมหาเจดีย์ และประทานเลื่อนระดับชั้นให้เป็น "พระมหาเจดีย์" โดยประทานเปลี่ยนชื่อใหม่จากชื่อเดิม คือ "พระธาตุคุ้มเวียงสรวย" มาเป็น "พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุ คุ้มเวียงสรวย" โดยท่านพระครูสุนทรศิลปาคม เจ้าคณะตำบลแม่สรวย เป็นผู้สนองรับการประทานในพระเมตตากรุณาธิคุณ (อ้างอิงโดยหนังสือพระสังฆฏีกาการประทานองค์พระบรมสารีริกธาตุจากสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานครที่  148/2550 ลง ณ วันที่ 28 มกราคม 2550)

นับเป็นขวัญ กำลังใจ และเป็นที่ปลื้มปิติของญาติโยมสาธุชนในท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง พระมหาเจดีย์พระบรมธาตุ คุ้มเวียงสรวย นับเป็นอีกหนึ่งในศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาของอำเภอแม่สรวย อันควรแก่การเคารพกราบไหว้ และสักการะบูชาของญาติโยมสาธุชนในท้องถิ่นและพุทธศาสนิกชนต่างถิ่น ที่เดินทางมาแสวงบุญและมาท่องเที่ยวในอำเภอแม่สรวย ตั้งแต่ปัจจุบันจวบจนถึงอนาคต ตราบชั่วกาลนาน....


ทางเดินขึ้นด้านหน้าสูงและชันมาก....





ภายในคุ้มเวียงสรวย...
พระอุปคุต

ช้างศึกของพ่อขุนทัพคุ้มเวียงสรวย....



เขื่อนแม่สรวย

เขื่อนแม่สรวย   สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2541 โดยทางสำนักงานชลประทานแม่สรวย ได้มีโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่สรวยขึ้นที่ช่องเขาด้านทิศเหนือของยอดเขาแห่งนี้และตั้งอยู่ที่หมู่ 14 บ้านเด่นภูเวียง ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่สวยงามโดยมีภูเขาล้อมรอบ กักเก็บน้ำจากลำน้ำแม่สรวย ผันน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรกรรมและอยู่ในเขตดููแลรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานแม่สรวย ภายในอ่างเก็บน้ำแม่สรวยจะมีร้านอาหารให้บริการแก่นักท่องเที่ยว หรือจะเช่าแพเพื่อชมวิวของอ่างเก็บน้ำ จะใช้เป็นที่สังสรรค์กับเพื่อนๆ ก็ได้ ในราคา 2,000.- บาท ระยะเวลาในการให้เช่า 4 ชั่วโมง ไป-กลับ โดยแพจะล่องไปจนถึงสะพานข้ามลำน้ำสรวยไปบ้านวาวี  ที่นี่ปลาเยอะและตัวใหญ่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการตกปลา จะกางเต้นท์นอนที่อ่างเก็บน้ำนี้ก็ได้.....

สำหรับการเดินทางมาเที่ยวเขื่อนแม่สรวย จะอยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่สรวยไปทางเชียงรายประมาณ 7 กิโล กรณีเดินทางมาจากเชียงใหม่ให้เลี้ยวซ้ายตรงทางโค้งบ้านตีนดอย เส้นทางผ่านหมู่บ้านเป็นเขา คดโค้ง ถนนลาดยาง สำหรับเส้นทางสายนี้ใช้เป็นเส้นทางไปดอยวาวี และดอยช้างอีกด้วย นอกจากการมาเที่ยวเขื่อนแม่สรวยแล้วภายในบริเวณเขื่อนแม่สรวยจะเป็นที่ตั้งของพระมหาเจดีย์พระบรมธาตุคุ้มเวียงสวยอีกด้วย ซึ่งตั้งอยู่บนเขาสูงทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ...



















ตลาดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า

ประเทศพม่า..มีชายแดนติดกับประเทศไทยที่อำเภอสาย จังหวัดเชียงราย โดยมีแม่น้ำแม่สายเป็นแนวกั้นเขตแดนที่ท่าขี้เหล็ก..พม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวกันเป็นอย่างมาก ในช่วงวันหยุดยาวนักท่องเที่ยวจะเยอะมาก แบบไม่มีที่จะเดินหรือจะซื้อสินค้าเพราะเข้าไม่ถึง แนะนำว่าการเที่ยวตลาดท่าขี้เหล็กแบบสบาย ผู้คนไม่เยอะ เลือกซื้อสินค้าได้อย่างที่ชอบและถูกใจ ต่อรองราคาได้ต้องเป็นช่วงที่ไม่ใช่วันหยุดยาวจะดีกว่า...เพราะเงียบมาก

การเข้าไปเที่ยวประเทศพม่า ไม่มีกฏระเบียบอะไรมากมายให้ยุ่งยาก เพียงแค่ทำ...."หนังสือผ่านแดนชั่วคราว" ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย ฝั่งประเทศไทย โดยใช้ "บัตรประจำประชาชน" เพียงอย่างเดียวก็สามารถเข้าไปจับจ่าย เดินเล่นในตลาดประเทศพม่าได้...สำหรับสินค้าที่ขายในตลาดท่าขี้เหล็กประเทศพม่า ส่วนมากจะเป็นสินค้าที่มาจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผลไม้อบแห้ง ขายถูกมาก ขนม เสื้อผ้า แผ่นหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า บุหรี่ เหล้า ฯลฯ เดินทั้งวันก็คงไม่ครบทุกร้านเพราะร้านเยอะเดินไม่ทั่ว...หรือถ้าอยากสวยเหมือนสาวพม่าก็ซื้อแป้งพม่ามาทาหน้าก็ได้...ส่วนเรื่องของคุณภาพของสินค้าอาจไม่ค่อยจะได้คุณภาพ หรือว่าดีสักเท่าไร เพราะราคาไม่แพง ยกเว้นสินค้าบางประเภท...สินค้าบางชนิดห้ามนำออก

นอกจากการเที่ยวที่ตลาดท่าขี้เหล็กแล้ว ประเทศพม่ายังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ที่อยากแนะนำ เช่น ตลาดพลอย วัดพระหยกขาว พระสามมิติ วัดพระเจ้าระแข่ง หรือชาวพม่าเรียกว่า วัดไทยใหญ่ เป็นวัดที่กว้างใหญ่มากและสวย หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอขาว และที่ยอดฮิต พระธาตุเจดีย์ชเวดากอง แบบจำลอง ขนาดจำลองยังใหญ่โตและสวยงาม พระธาตุเจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่บนเขาสูง ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ของฝั่งประเทศไทยและของประเทศพม่า ภายในบริเวณพระธาตุเจดีย์ชเวดากองจะห้ามไม่ให้ใส่รองเท้าพื้นร้อนขนาดไหนคงต้องทน...มีบริการรับฝากรองเท้าคู่ละ 2 บาท......

รอบๆ พระธาตุเจดีย์ชเวดากองจะมีพระประจำวันเกิดให้กราบไหว้...การไหว้ก็จะแตกต่างจากของไทยเราเป็นอย่างมากและมีหลายขั้นตอน...โดยเริ่มจากการจุดธูปเทียนแล้วนำไปวางพร้อมกับดอกไม้....ขั้นตอนต่อมาให้ตักน้ำด้วยขันเล็กๆ รดพระประจำวันเกิดก่อน 3 ครั้ง.... จากนั้นรดตรงอุ้งมือเทวดา 2 ครั้ง......และขั้นตอนสุดท้ายให้รดที่ช้าง 1 ครั้ง.....การรดน้ำที่ช้างก็เพื่อให้มีโชคตามคำบอกเล่าของชาวพม่า.....

สำหรับการไปเที่ยวในแต่ละที่จะมีรถให้บริการพาเที่ยวแบบนั่งได้ 2 คน. ค่าบริการ 200 บาท...หรือจะใช้รถให้บริการคันใหญ่นั่งได้ประมาณ 10 คนก็ได้ ราคาสามารถต่อรองได้ เคยใช้บริการนั่ง 5 คน ในราคา 300 บาท...




แบบนี้ก็ได้กรณีหลายคน.....จะได้ราคาถูก  5 คน  300 บาท
บริการพาเที่ยว...นั่งได้ 2 คน ค่าบริการ 200 บาท 
บริการประทับใจ ปลอดภัย และไว้ใจได้...
วัดพระหยกขาว พระสามมิติ

ภายในพระธาตุเจดีย์ชเวดากองห้ามใส่รองเท้า...


พระธาตุเจดีย์ชเวดากอง
วัดพระเจ้าระแข่ง หรือวัดไทยใหญ่




แม่สาย เหนือสุดในสยาม

"แม่สายเหนือสุดในสยาม"  เป็นอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงรายที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านคือ "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์" ที่อำเภอแม่สาย และ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ที่อำเภอเชียงของ

อำเภอแม่สายอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 62 กิโล มีรถโดยสารประจำทางและรถตู้ให้บริการ กรณีไม่มีรถส่วนตัว ขึ้นได้ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงราย (แห่งที่ 1) ไปตามทางหลวง 110 การมาเที่ยวแม่สายนอกจากจะเที่ยวภายในตัวตลาดที่มีสินค้าให้เลือกซื้อมากมายหลายชนิด เช่น ผลไม้แช่อิ่ม เสื้อผ้า สินค้าพื้นเมือง เครื่องใช้ไฟฟ้า ขนม ฯลฯ บริเวณเดียวกันจะเป็นที่ตั้งของ วัดพระธาตุดอยเวา ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงริมฝั่งแม่น้ำแม่สายมองเห็นทิวทัศน์ของแม่สายและท่าขี้เหล็กประเทศพม่า จะเดินขึ้นหรือจะขับรถขึ้นก็ได้ เดินอาจเหนื่อยหลายร้อยขั้นบันได

มาแม่สายถ้าหากไม่พูดถึงแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตคือ ตลาดท่าขี้เหล็ก ก็คงไม่ได้ ก่อนจะข้ามไปเที่ยวตลาดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า สิ่งที่ต้องทำก็คือ "หนังสือผ่านแดนชั่วคราว" ทำได้ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย ก่อนนั้นทำได้ที่ด่านแม่สาย เดี๋ยวนี้ย้ายมาทำ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สายแทนสำหรับค่าทำหนังสือผ่านแดนของไทยเรา 40 บาท ส่วนของประเทศพม่า 10 บาท เอกสารที่ใช้ในการทำหนังสือผ่านแดนใช้แค่บัตรประจำประชาชนก็พอแล้ว ถูกมากสำหรับการเที่ยวประเทศพม่า แต่อาจหมดเยอะกับการซื้อสินค้ากลับมาไทย...