ประเพณีตานก๋วยสลาก

"ตานก๋วยสลาก" เป็นประเพณีของชาวล้านนาที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี บางวัดก็อาจไม่จัดในปีนั้นแต่จะเป็นการตานเงินก้อนแทน ส่วนคำว่า "ตานก๋วยสลาก" จะเรียกกันหลายชื่อกิ๋นข้าวสลาก กิ๋นสลาก ตานสลากแล้วแต่จะเรียก ก่อนที่จะถึงวันตานก๋วยสลากก็จะเป็นวันดาสลาก....

"วันดาสลาก" จะเป็นวันที่ทุกบ้านจะเตรียมต้นสลากหรือก๋วยสลากหรือเรียกอีกอย่างว่าชะลอมที่สานด้วยไม้ไผ่และตกแต่งก๋วยสลากอย่างสวยงามด้วยของกินของใช้ เช่น แชมพูซอง พริก หอม ข้าวสาร เกลือ สมุด ดินสอ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แก้วน้ำพลาสติก ขนม มาม่า ไม้ขีดไฟ แป้งซอง กระจก หวี ถ้วย จาน ช้อน ผงชักผ้า ฯลฯ ส่วนบนสุดก็จะเสียบเงินด้วยไม้ไผ่เหลาที่ผ่าตรงกลางสำหรับนำเงินมาเสียบ..ส่วนยอดเงินที่จะทำบุญจะใส่เยอะหรือน้อยก็ตามฐานะของเรา ต้นสลากจะมีหลายแบบแล้วแต่ว่าแต่ละบ้านจะถวายวัดด้วยอะไรที่วัดขาดไม่มีก็ได้ วันดาสลากจะเป็นวันที่ญาติหรือเพื่อนมาเที่ยวหาเพื่อมาร่วมทำบุญและช่วยกันตกแต่งต้นสลากด้วยกัน ส่วนอีกวันทุกหลังคาเรือนก็จะนำครัวตานไปทำบุญที่วัด สำหรับวันนี้ก็จะมีต่างวัดที่ได้รับนิมนต์มาร่วมงานพร้อมกับครัวทานและคณะฟ้อนของแม่บ้านมาด้วย...

"ตานก๋วยสลาก" หมายถึง การถวายทานด้วยวิธีการจับสลากเครื่องไทยทานที่บรรจุมาในชะลอม    การถวายตานก๋วยสลากมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการอุทิศให้เทพยดาและผู้ที่ล่วงลับ และอีกอย่างเป็นการอุทิศให้ตนเองเมื่อล่วงลับไปในภายภาคหน้า การถวายก๋วยสลากถือกันว่าจะได้อานิสงส์แรง เพราะเป็นการทำบุญแบบสังฆทานผู้ถวายไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณรรูปใด...

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น