อาณาจักรสุวรรณโคมคำ-โยนก-เวียงเปิกสา-เวียงหิรัญนครเงินยางศรีช้างแสน และล้านนา เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีก่อน เจิ่งนองท่วมท้นไปด้วยน้ำที่ไหลมาจากแว่นแคว้นมิถิลา ดินแดนแห่งผืนแผ่นดินใหญ่ มีพญานาคหลายตระกูลเฝ้าคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมและทำลายล้างผู้อาธรรม์มาตั้งแต่โบราณกาล จนชาวนครทั้งหลายเรียกว่า "เมืองพญานาค" หรือ "เมืองนาคพันธุ์"
ดังเช่นในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร และตำนานลี่ผีของเจ้าคำหมั้น วงกดรัตนะ (ลาว) ได้กล่าวตรงกันว่ามีพญาศรีสัตตนาคราช พญานหุตตนาคราช และพญาพันธุนาคราช เป็นส่วนหนึี่งของพญานาคทั้ง ๑๕ ตระกลูใหญ่ ที่คอยรักษาลำน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่ต้นตระกลู จากหนองกระแสถึงหลวงพระบาง นับแต่พุทธกาลเป็นต้นมา จนถึงการล่มสลายลงของเมืองสุวรรณโคมคำ และโยนกนคร โดยตำนานท้้งสองได้กล่าวว่า เมื่อก่อนพุทธศักราชเมืองสุวรรณโคมคำปกครองโดยเจ้าสุวรรณมุขทวารติดต่อกันมาหลายช่วงขัติยะวงศ์ และท้ายสุดตระกลูพาหิรพราหมณ์เป็นชาวขอมมาจากเมืองอุมงคเสลานคร ได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครสุวรรณโคมคำ ซึ่งนครแห่งนี้ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ตรงปากแม่น้ำกกพาหิรพราหมณ์ปกครองโดยขาดทศพิธราชธรรม กดขี่ข่มเหงประชาชนจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ความทราบถึงพญาศรีสัตตนาคราชและพญานหุตตนาคราช จึงได้สั่งให้พลโยธานาคทั้งหลายขุดควักฝั่งโขงลึกถึงใต้พสุธาแห่งสุวรรณโคมคำ ทำให้เมืองสุวรรณโคมคำพังทลายจมลงกลางลำน้ำโขงชั่วราตรีกาลเดียว พาหิรพราหมณ์และบริวารถึงแก่กาลกิริยาไปตามกรรมแห่งตน ถือเป็นการสิ้นสุดลงของอาณาจักรสุวรรณโคมคำ ณ บัดนั้น
ต่อมาเข้าสู่อาณาจักรโยนก ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ ในสมัยพระเจ้าไชยชนะ กษัตริย์โยนกนครองค์ที่ ๔๘ ได้ปกครองโยนกนครโดยขาดทศพิธราชธรรม วันหนึ่งชาววังและข้าราชบริวารได้ออกไปหาปลาในลำน้ำกก ได้พบปลาไหลเผือกยักษ์ลำตัวเท่าต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา จึงช่วยกันทุบตีและมัดลากปลาไหลตัวนั้นมาถวายพระเจ้าไชยชนะ พระองค์จึงสั่งให้ฆ่าและชำแหละเนื้อแจกจ่ายกันกินโดยทั่ว ในราตรีกาลนั้น ช่วงปฐมยาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็บังเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที คือ เกิดฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าอื้ออึงไปทั่วนคร ล่วงเลยถึงมัชฌิมยาม ฟ้าฝนยิ่งตกหนักขึ้น ฟ้าร้องฟ้าผ่า และแผ่นดินไหว เสียงอื้ออึงอลหม่านกึกก้องทั่วทั้งนครกลายเป็นหนองน้ำไปในชั่วพริบตา คงเหลือแต่เรือนพักพิงของหญิงม่ายชราอยู่หลังเดียว เนื่องจากไม่ยอมกินเนื้อปลาไหลเผือก พราหมณาจารย์ผู้หนึ่งที่มาร่วมดูเหตุการณ์ในยามเช้า ได้กล่าวว่า ปลาไหลเผือกยักษ์ตัวนั้นน่าจะเป็นบริวารของพญานาครักษาลำน้ำแห่งนี้ จึงได้ลงโทษพระเจ้าไชยชนะที่ปกครองนครโดยขาดคุณธรรมและศีลธรรม โดยพญานาคได้พาพลโยธามุดดินควักพื้นบาดาลใต้พสุธาแห่งนครโยนก ให้ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำไปในชั่วข้ามคืน เป็นการสิ้นสุดลงของโยนกนคร ณ ราตรีกาลนั้น (ขอบคุณข้อมูลจากหอประวัติเมืองเชียงราย ๗๕๐ ปี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น