เมื่อถึงเดือนเมษายนของทุกปีก็จะเข้าสู่เทศกาลประเพณีปี๋ใหม่เมืองของทางภาคเหนือ วันปี๋ใหม่เมืองจะมีอยู่ด้วยกันหลายวัน เริ่มตั้งแต่วันแรก คือ "วันสังขารล่อง" วันนี้แต่ละบ้านก็จะนำเอาผ้าห่ม มุ้ง เสื้อผ้าออกมาซักให้ไหลล่องไปกับสังขารตามความเชื่อ...สมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายเขาจะซักผ้าตามแม่น้ำ และให้สระผมโดยให้หันศีรษะไปตามทิศที่ทำนายไว้ตามหนังสือปี๋ใหม่เมือง วันต่อมาก็จะเป็น "วันเนาว์" หรือ "วันเน่า " คนเหนือจะเรียกว่าวันเน่า เป็นวันที่ทุกหลังคาเรือนจะทำขนมเพื่อนำไปทำบุญที่วัด และเป็นอีกวันที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าห้ามด่า ห้ามว่าร้ายกัน เพราะจะทำให้ปากเหม็นเน่าตามชื่อของวัน และวันเน่ายังเป็นวันที่ต้องไปขนทรายเข้าวัดอีกด้วย วันต่อมาก็จะเป็น "วันพญาวัน" วันนี้ทุกคนก็จะแต่งตัวสวยด้วยเสื้อผ้าใหม่พากันไปทำบุญที่วัด วันนี้เป็นวันที่ผู้เฒ่าผู้แก่เขาห้ามเด็ดดอกไม้ ห้ามทะเลาะกัน ห้ามจ่ายเงิน ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วย และวันสุดท้ายของเทศกาลวันปี๋ใหม่เมืองก็คือ "วันปากปี" วันนี้ก็จะเป็นอีกวันที่ต้องไปวัดเพื่อทำบุญส่งเคราะห์บ้าน...
การก่อเจดีย์ทรายก็เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่มีมาคู่กับเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ซึ่งแต่ละบ้านก็จะพากันไปขนทรายเข้าวัดกันในวันเน่า เหตุที่ต้องขนทรายเข้าวัดก็เพราะว่าเวลาเราไปทำบุญที่วัดทุกครั้ง รองเท้าหรือเท้าเราก็จะเหยียบเอาทรายออกมาด้วย พอถึงวันปี๋ใหม่เมือง เราจึงต้องพากันไปขนทรายกลับคืนเข้าวัดให้เหมือนเดิม..
สำหรับตุงที่นำมาปักเจดีย์ทรายมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ตุง 12 ราศีหรือตุงนักบัตร ตุงพญายอหรือตุงไส้หมู ตุงตัวผู้ ตุงตัวเมีย ตุงสามเหลี่ยมหรือตุงช่อ นำมาปักบูชาพระเจดีย์ทราย ตามความเชื่อว่าผู้ที่บูชาตุงตัวเปิ้งชีวิตจะรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น ตุงตัวเปิ้งมีทั้งหมด 12 ราศี มีชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะเมีย วอก ระกา จอ และสุดท้ายปีกุน นอกจากการบูชาตุงแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การตานไม้ค้ำต้นโพธิ์ เพื่ออุปถัมภ์ค้ำจุนชีวิตเราให้รอดพ้นจากสิ่งที่ก่อให้เกิดทุกข์อีกด้วย
ไม้ง่ามหรือไม้ค้ำต้นโพธิ์ |
วัดป่าลัน แม่สรวย เชียงราย |
ปีนี้ต่างกับทุกปีที่ผ่านมา...ไม่ได้เที่ยวที่ไหนเลยอด..ปีหน้าว่าใหม่ล่ะกัน..!!!
ตอบลบ