พระพิฆเนศวร เป็นเทพเจ้าทางศาสนาพราหมณ์ ได้สถาปนาพระพิฆเนศวรเป็นเทพองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีใดๆ เป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ เป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง จึงเป็นที่เคารพสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลป์วิทยาการ ๑๘ ประการ สามารถขจัดอุปสรรคปัญหา ช่วยให้กิจการงานทุกอย่างสำเร็จสมปรารถนา
ตามประวัติ...เป็นโอรสของพระอิศรวรและพระอุมาเทวีหรือพระแม่ปารวตีในคราวที่พระศิวะเทพทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานอยู่นั้น พระแม่ปารวตี เนื่องจากทรงอยู่องค์เดียวจึงประสงค์ที่จะมีผู้มาอยู่เป็นเพื่อนเล่นคลายความเงียบเหงา และคอยดูแลคุ้มครองป้องกันคนภายนอกที่จะเข้ามาก่อความวุ่นวายในพระตำหนัก จึงทรงเสกอธิษฐานสร้างพระโอรสผู้มีเทพลักษณะสมบูรณ์พร้อม พระองค์หนึ่งขึ้นมาอยู่ดูแลเป็นเพื่อนพระองค์ บังเอิญคราวหนึ่งพระนางทรงเข้าไปทำภารกิจอยู่พระตำหนักด้านใน ขณะนั้นองค์ศิวเทพได้เสด็จกลับมา ถูกพระโอรสห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าพระองค์เป็นใคร พระองค์ทรงพิโรธ มหาเทพทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง ดังลั่นสั่นสะเทือนทั่วทั้งจักรวาล สุดท้ายพระโอรสถูกตรีศูลของมหาเทพตัดศีรษะขาดกระเด็นหายไป พระแม่ปารวตี เมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องโกลาหลรีบเสด็จออกมาทอดพระเนตร เมื่อเห็นร่างพระโอรสอันเป็นที่รักปราศจากศีรษะถึงกับสิ้นสติและเมื่อฟื้นคืนมาทรงมีความโศกาอาดูร และตัดพ้อพระศิวะสวามีที่ทำร้ายฆ่าพระโอรส องค์มหาเทพเมื่อรู้ความจริงแล้ว จึงรีบค้นหาศีรษะเพื่อนำมาต่อชุบชีวิตใหม่ให้พระโอรส และต้องทำพิธีให้ได้ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น ยิ่งใกล้เวลายังหาศีรษะที่หายไปไม่ได้ จวนจะหมดเวลาพระศิวะได้โยนตรีศูลอาวุธของพระองค์ออกไปหาและปรากฏว่าได้มาเป็นศีรษะช้าง ทรงรีบทำพิธีต่อชีวิต และชุบชีวิตให้ใหม่พร้อมยกย่องพระโอรสผู้มีศีรษะเป็นช้างให้เป็นเทพที่สูงที่สุด และขนานพระนามว่า "พระพิฆเนศวร" ซึ่งแปลว่า "เทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรค" และยังทรงให้พรว่า ในการประกอบพิธีการต่างๆ ทั้งหมดนั้นจะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศวรก่อน เพื่อความสำเร็จของพิธีนั้น
ลักษณะมีรูปกาย...เป็นมนุษย์อ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว (ถูกขวาน ปรศุรามหักเสียงา) สีกายสีแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง) มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกระโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) พาหนะคือ หนู
สัญญลักษณ์และความหมายแห่งพระวรกาย
- พระเศียรของท่าน หมายถึง วิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต
- พระวรกาย แสดงถึง การที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี
- ศีรษะช้าง แสดงถึง ความเฉลียดฉลาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น