ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเวียงกาหลง เชียงราย


เมืองโบราณเวียงกาหลง
ท้าวฆติกามหาพรหม แม่กาเผือก
พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
พระธาตุแม่เจดีย์







เมืองโบราณเวียงกาหลง... ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบันนี้ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าทางประวัติศาตร์อย่างยิ่งอีกแห่งหนึ่งเพราะขุดค้นพบเตาเผา และชิ้นส่วนภาชนะต่างๆ ในสมัยโบราณอยู่ทั่วไป อีกทั้งยังมีแนวคูน้ำคันดินที่หลงเหลืออยู่บางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของเวียงกาหลงในอดีต

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเวียงกาหลงนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ใดๆ แต่นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๑๕๐๐-๑๖๐๐ โดยสัมพันธ์กับประวัติการสร้างพระธาตุแม่เจดีย์ คือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งพม่าหรืออาณาจักรพุกามในขณะนั้นได้ยกทัพไปทำศึกเพื่อทวงขอพระบรมสารีริกธาตุ พระไตรปิฏก และพระแก้วมรกตคืนจากกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา และได้มายั้งทัพบริเวณนี้จึงสร้างเมืองขึ้นและขุดคูล้อมรอบเมืองเพื่อสร้างเป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกศัตรูและสัตว์ร้าย รวมทั้งได้สร้างพระธาตุแม่เจดีย์ขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่จากการศึกษาอายุของเตาเผาและเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง ทำให้ทราบอายุของโบราณวัตถุและสันนิษฐานว่าเวียงกาหลงน่าจะเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑ ซึ่งร่วมสมัยกับยุคราชวงศ์มังราย แหล่งเตาเวียงกาหลงมีพื้นที่กว่า ๑๕ ตารางกิโลเมตร ขุดค้นพบเตาเผาหลายเตากระจายอยู่ทั่วไป

เวียงกาหลงเป็นเมืองโบราณที่มีรูปร่างยาวรีต่อเนื่องขึ้นไปบนเนินเขา มีแนวคูน้ำคันดินขุดล้อมเป็นปราการป้องกันเมือง หลงเหลืออยู่บางส่วน แนวคูน้ำนั้นลึกประมาณ ๓-๔ เมตร กว้าง ๓-๕ เมตร โดยคูดินด้านทิศตะวันออกขุดเป็นคูดินสองชั้น เป็นรูปปีกกาตีวงอ้อมจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ชำนาญทางหาทางออกไม่ได้และหลงทางในที่สุด ซึ่งลักษณะผังเมืองที่หลอกล่อให้คนหลงทางเช่นนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ "เวียงกาหลง"

นอกจากคันคูดินรูปปีกกาที่ทำให้คนหลงทางแล้วชื่อเวียงกาหลงยังถูกโยงให้สัมพันธ์กับตำนานแม่กาเผือกตำนานที่เล่นขานถึงกำเนิดของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัปป์ อันได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสัปปะ พระโคตมะ และพระศรีอริเมตไตรยะ

ในตำนานแม่กาเผือก ท้าวฆติกามหาพรหมได้กล่าวถึงเวียงกาหลง เมื่อครั้งที่แม่กาเผือกบินมาสร้างรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ ในเวลาต่อมาแม่กาได้ตั้งครรภ์และออกไข่จำนวน ๕ ฟอง แม่กาเผือกคอยเฝ้าฟูมฟักดูแลไข่กาทั้ง ๕ ฟองนั้นด้วยความรักและเอาใจใส่อย่างดี แต่วันหนึ่งแม่กาเผือกได้ออกไปหากินในอื่นที่ไกลออกไปบินไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์งดงามไปด้วยพืชพันธุ์พฤกษาต่างๆ นาๆ มากมายแม่กาเผือกเพลิดเพลินอยู่ในสถานที่แห่งนั้นจนค่ำ ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดกระหน่ำทำให้แม่กาเผือกบินหลงวนอยู่ในสถานที่แห่งนั้นหาทางกลับรังไม่ได้ จึงต้องพักอยู่ที่แห่งนั้นซึ่งภายหลังได้เรียกชื่อว่า "เวียงกาหลง" ฝ่ายไข่กาทั้ง ๕ ฟองในรังนั้นได้ถูกลมพายุใหญ่พัดไหลไปตามแม่น้ำ พลัดพรากกันไปคนละทิศละทาง

รุ่งเช้า เมื่อพายุสงบแล้ว แม่กาเผือกบินกลับมาที่รัง ไม่เห็นลูกจึงออกตามหาไปทั่ว แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบจึงเศร้าโศกเสียใจจนตรอมใจตาย ด้วยอานิสงส์ความรักความเมตตาอันบริสุทธิ์ที่มีต่อลูก จึงทำให้แม่กาเผือกได้ไปจุติยังพรหมโลก เป็นท้าวมหาพรหมชื่อ "ฆติกามหาพรหม"

ฝ่ายไข่กาทั้ง ๕ ฟองที่ไหลไปตามแม่น้ำนั้นได้มีแม่สัตว์ต่างๆ มาเก็บเอาไปเลี้ยง โดยไข่ใบแรกมีแม่ไก่เก็บไปเลี้ยง ไข่ใบที่สองมีแม่นาคเก็บไปเลี้ยง ไข่ไปที่สามมีแม่เต่าเก็บไปเลี้ยง ไข่ใบที่สี่มีแม่โคเก็บไปเลี้ยง และไข่ใบที่ห้ามีแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง ชื่อของแม่สัตว์ทั้งห้าที่นำไข่กาไปเลี้ยงจึงกลายมาเป็นคาถาบูชาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์คือคาถา "นะ โม พุท ธา ยะ"

เมื่อแม่สัตว์เก็บไข่ทั้งห้าฟองไปเลี้ยง ยามไข่แตกออกมาปรากฏร่างมนุษย์น้อยแทนลูกกา แม่สัตว์ทั้ง ๕ จึงเลี้ยงลูกมนุษย์ทั้ง ๕ จนมาเติบโหญ่ หนุ่มน้อยทั้ง ๕ คนนั้นต่างมีจิตใจฝักใฝ่ในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรจึงขอออกบวชไปอยู่ในป่า ขณะที่ทั้ง ๕ คนบวชอยู่ในป่านั้นได้บังเอิญมาพบกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อได้ไถ่ถามกันจึงทราบว่าทั้ง ๕ คนนั้นมีมารดาคนเดียวกัน แต่ด้วยเหตุที่ไม่ทราบว่ามารดาที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานเพื่อตามหาแม่ที่แท้จริงของพวกตน

ด้วยแรงอธิษฐานของลูกทั้ง ๕ คน ท้าวฆติกามหาพรหมผู้เคยเป็นแม่กาเผือกจึงลงมาหาลูกทั้ง ๕ เพื่อให้ลูกรู้ว่าตนนั้นเคยเป็นแม่กามาก่อน และบอกลูกทั้ง ๕ ว่าหากรำลึกถึงแม่ให้ใช้เส้นด้ายฟั่นเป็นเกลียวแล้วดึงเป็นรูปตีนกาใส่ไว้ในผางน้ำมันแล้วจุดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่หรือตรงกับเดือน ๑๒ ของไทย อานิสงส์ในการทำบุญจะส่งไปถึงท้าวฆติกามหาพรหมผู้เคยเป็นแม่กาเผือกมารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์

เวียงกาหลงจึงเป็นเมืองโบราณที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตำนานพุทธศาสนาดังกล่าว และชื่อของเวียงกาหลงยังได้ส่งอิทธิพลต่องานศิลปหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของเวียงกาหลง คือ เครื่องเคลือบดินเผาที่มีอายุยาวนานหลายร้อยปีแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในเวียงกาหลงที่สั่งสมอายธรรมมายาวนาน และบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของเวียงกาหลงในอดีต เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เวียงกาหลงสามารถสร้างงานศิลปะอย่างเครื่องเคลือบดินเผาซึ่งเป็นหัตถกรรมชั้นสูงที่พบได้ไม่มากนักก็คือภูมิประเทศ และที่ตั้งของเวียงกาหลงซึ่งอยู่ติดเนินเขานั้นห่างไกลออกไปจากเส้นทางเดินทัพจึงทำให้เวียงกาหลงรอดพ้นจากการศึกสงครามผู้คนจึงมีเวลาคิดสร้างงานศิลปะ ลวดลายที่ตกแต่งอยู่บนเครื่องเคลือบโบราณ เช่น ลวดลายพันธุ์พฤกษาก็สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ที่แวดล้อมเวียงกาหลงในอดีต

เวียงกาหลง มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณสองศตวรรษก่อนที่จะเสื่อมลงพร้อมกับอาณาจักรล้านนาที่ถูกพม่าเข้ามาปกครองอยู่ถึงสองร้อยกว่าปี เวียงกาหลงก็ล่มสลายไปเช่นกัน จนกระทั่งถึงปลายยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง หลังจากพระเจ้ากาวิละได้ทำการฟื้นม่านหรือกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า และขึ้นไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ตามรายทางขึ้นไปทางเหนือจนถึงเขตสิบสองปันนาลงมาอาศัยอยู่ในล้านนาเพื่อรื้อฟื้นบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งก็มีการอพยพผู้คนจากเชียงใหม่มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่เวียงกาหลงและโดยรอบหลังจากนั้นก็มีผู้คนจากถิ่นต่างๆ เริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกิน และอยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในชั่วระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีผู้คนจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น อำเภอดอยสะเก็ด แม่แตง พร้าว ฝาง มาตั้งถิ่นฐานในเขตตำบลแม่เจดีย์และแม่เจดีย์ใหม่ ผู้คนจากลำปางมาตั้งถิ่นฐานในตำบลเวียงกาหลงและอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมืองโบราณเวียงกาหลง
ตั้งอยู่บ้านป่าส้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลเวียงกาหลง ห่างจากเส้นทางหลักสายเชียงใหม่-เชียงราย แยกเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๑๐๔๘ ไปทางอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือตรงเข้าไปเมืองโบราณเวียงกาหลง แต่เดิมชื่อตำบลหัวฝาย ต่อมาราษฏรได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลเวียงกาหลงเนื่องจากที่ตั้งของตำบลมีพื้นที่ของเมืองโบราณเวียงกาหลงรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันนี้จึงมีสถานะเป็นตำบลเวียงกาหลง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเวียงป่าเป้า ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างรอยต่อของเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด ๑๕ หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนแม่ขะจาน ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 

เนื่องจากอำเภอเวียงป่าเป้าเป็นทางผ่านจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดเชียงราย และยังแยกไปจังหวัดลำปางได้ด้วยเช่นกัน ทำให้อำเภอเวียงป่าเป้าเป็นพื้นที่ผู้คนสัญจรไปมาระหว่างจังหวัดอยู่ตลอดเวลาอีกทั้งลักษณะภูมิประเทศที่เคยเป็นแนวภูเขาทำให้บริเวณหลายๆ พื้นที่ในอำเภอเวียงป่าเป้า เช่น ตำบลแม่ขะจานมีน้ำพุร้อนจนเกิดเป็นชุมชนที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีน้ำพุร้อนแม่ขะจานเป็นจุดท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด

จากประวัติศาสตร์การอพยพของผู้คนจากเชียงใหม่มาอาศัยอยู่ในอำเภอเวียงป่าเป้า และคนจากลำปางมาตั้งรกรากอยู่ในตำบลเวียงกาหลง ผู้คนในชุมชนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาล้านนาไม่ต่างจากกลุ่มไทยวนในพื้นที่อื่นๆ และยังมีชาวยองที่อพยพมาจากจังหวัดลำพูนบางส่วน นอกจากนั้นเป็น กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เช่น ปกาเกอะญอ ม้ง เมี่ยน อาข่า มูเซอดำ ลีซอ เป็นต้น ชาวบ้านนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่และนับถือคริสตศาสนานิกายคาทอลิกและโปรแตสแตนท์รองลงมาตามลำดับ

อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำการเกษตรโดยมีพืชเศรษฏกิจที่สำคัญคือ ข้าวเหนียว และปลูกข้าวจ้าวบ้างเล็กน้อย มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการปลูกขิง โดยมีโรงงานขิงดองตั้งอยู่ในตำบลเวียงกาหลง เนื่องจากผู้คนในเวียงกาหลงได้ประดิษฐ์เครื่องเคลือบดินเผามาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาจึงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในตำบลเวียงกาหลง... 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น