เชื่อกันว่าเครื่องเคลือบดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงนั้น เริ่มผลิตในสมัยราชวงศ์มังราย หรือประมาณพุทธศวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีในบรรดาเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในล้านนานั้น เครื่องถ้วยเวียงกาหลงนับว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักที่สุด เพราะมีคุณภาพที่ดี มีความสวยงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือมีน้ำหนักเบา เนื้อบาง มีการใช้สีเขียนใต้เคลือบและเคลือบทับด้วยเคลือบสีเขียวไข่กา มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานเรื่องเล่า คือ ลวดลายกาหลงที่แสดงถึงคติความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนา รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศน์วิทยาที่สะท้อนอยู่บนลวดลายพันธุ์พฤกษาที่วาดตกแต่งบนเครื่องปั้นดินเผาของเวียงกาหลง
แหล่งเตาเผาเวียงกาหลงที่ขุดค้นพบนั้น ตั้งเรียงรายอยู่ตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลาว ตั้งแต่หมู่บ้านทุ่งม่าน บ้านสันมะเค็ด จนถึงบ้านป่าเหมือด ลักษณะเตาเผาเวียงกาหลงเป็นเตาเผาชนิดลมร้อนตรง เปลวไฟผ่านไปยังภาชนะที่เผาในเตา เป็นเตาที่มีขนาดเล็กโดยมีความกว้างไม่เกิน ๒ เมตร ความยาวไม่เกิน ๔.๔ เมตร ปล่องไฟมีความกว้างเฉลี่ย ๙๒ เซ็นติเมตร ผนังเตาหนาประมาณ ๔๒ เซ็นติเมตร พบว่ามีร่องรอยการเผาด้วยอุณหภูมิที่สูงมากเนื่องจากมีการละลายของผนังเตาทำให้เกิดการเคลือบติดกัน ส่งผลให้ผนังเตามีความแข็งแรงคงทน อีกทั้งกรรมวิธีการเผาของเวียงกาหลงที่สามารถเคลือบน้ำยาได้บาง มีความสม่ำเสมอกันทั่วถึงทั้งชิ้นงาน ในบางแหล่งเตาเผาพบกล่องดินซึ่งใช้ตั้งเรียงภาชนะที่จะเผาในเตาเผาเป็นการป้องกันสิ่งสกปรก ฝุ่นเถ้าและควันไฟกระทบชิ้นงาน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิในการเผาให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่พบในแหล่งเตาเผาอื่นๆ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเทคนิควิทยาการชั้นสูงที่คนในเวียงกาหลงได้คิดค้นขึ้นมานานกว่าหลายร้อยปี
เนื่องจากพื้นที่เวียงกาหลงเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน จึงทำให้มีแร่ธาตุสะสมอยู่ในเนื้อดินมากมาย ใช้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารใดก็เจริญงอกงาม แม้แต่การปลูกข้าวญี่ปุ่นในพื้นที่เวียงกาหลง ก็ยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพจนชาวญี่ปุ่นยังยอมรับว่าอร่อยกว่าข้าวที่ปลูกในประเทศ ดินที่ใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา คือมีความเหนียวและยืดหยุ่นสามารถนำมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อกันว่าแร่ธาตุในเนื้อดินนั้นเมืิ่อนำมาผลิตเป็นเครื่องถ้วย ภาชนะเครื่องใช้ จะส่งผลให้ผู้ใช้มีสุขภาพดี อายุยืนอีกด้วย
เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงเริ่มเป็นที่รู้จักนับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ โดยการสำรวจของพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) พบว่ามีการสร้างงานเครื่องเคลือบดินเผาหลากหลายรูป ทั้งภาชนะเครื่องใช้ ตุ๊กตา พระพุทธรูป ตัวหมากรุก ฯลฯ สามารถแบ่งกลุ่มตามชนิดการเคลือบ และการตกแต่งลวดลายออกเป็น ๔ กลุ่ม
๑. กลุ่มชิ้นงานประเภทเขียนลวดลายสีดำใต้เคลือบ ชิ้นงานมีคุณภาพดี เนื้อแกร่ง เพราะเผาด้วยอุณหภูมิสูงมาก เนื้อดินละเอียด สีออกขาวนวลจนถึงสีเหลืองเทา ที่ผิวภาชนะมีการเคลือบน้ำเคลือบรองพื้นชั้นหนึ่งก่อนจะเขียนลวดลาดแล้วเคลือบใสทับ ไม่มีสีหรือให้สีจางๆ ชั้นเคลือบใสบาง แตกรานละเอียดทั้งใบ ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นชามจานปากกว้าง ชามทรงสูงขนาดเล็ก มีการเขียนลวดลายทั้งด้านนอก และด้านใน โดยมักจะเขียนลายจีน ลายพันธุ์พฤกษา ลายปีกนก สามารถมองเห็นลวดลายที่เขียนลงไปด้วยสีดำตัดกับสีของน้ำเคลือบอย่างชัดเจน
๒. กลุ่มชิ้นงานประเภทเคลือบใส มีเนื้อดินละเอียดสีนวล มีลักษณะบอบบางมากเพราะเผาในอุณหภูมิไม่สูงมาก จึงเปราะและแตกหักได้ง่าย มักผลิตชิ้นงานเป็นชาม กระปุก ขวดปากบานทรงน้ำเต้า กระปุกเต้าปูน เต้าปูน ตะเกียง ตุ๊กตารูปสัตว์ ถ้วยขนาดเล็ก เป็นต้น เคลือบด้วยน้ำเคลือบสีเทาหม่นค่อนไปทางสีฟ้า
๓. กลุ่มชิ้นงานประเภทเคลือบเขียว สามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ เคลือบสีเขียวจากสนิมของตะกั่วหรือทองแดง มักผลิตเป็นกระปุก และพระพุทธรูป
๔. กลุ่มชิ้นงานประเภทเคลือบสีน้ำตาล บางชิ้นมีสีน้ำตาล บางชิ้นมีสีน้ำตาลค่อนข้างดำ บ้างมีสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นภาชนะประเภทไห ถ้วย ชาม แจกัน และตุ๊กตารูปสัตว์ การเคลือบไม่สม่ำเสมอ
การขุดค้นโบราณสถานเวียงกาหลง และแหล่งเตาเผาทำให้วัตถุโบราณที่เคยฝังอยู่ใต้ดินถูกขุดขึ้นมาขายให้แก่พ่อค้าวัตถุโบราณอย่างมากมายเมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้คนในท้องถิ่นอย่างเช่น คุณทัน ธิจิตตัง ห่วงใยกับสิ่งที่เกิดขึ้น สมบัติที่ถูกสร้างขึ้นมาจากบุรุษคงจะไม่หลงเหลือ จึงทำให้เขาคิดสร้างเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงขึ้นมาใหม่ และพลิกฟื้นภูมิปัญญาของชาวเวียงกาหลงแต่โบราณให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้กลุ่มสล่าทันถือเป็นกลุ่มผู้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในตำบเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลงได้มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วประเทศและนานาชนิดอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลุ่มสล่าเครื่องเคลือบดินเผาได้ผลิตแจกันเครื่องเคลือบดินเผาขนาดใหญ่ ผลิตจากดินดำหรือดินภูเขาไฟอายุนับล้านปีถวายเจ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (พระราชอิสรยศในเวลานั้น) ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเยือนงานพืชสวนโลก ในงานมหกรรมพิืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๙ แจกันเครื่องเคลือบดินเผาที่กลุ่มสล่าเวียงกาหลงและวิสาหกิจชุมชนเวียงกาหลงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเจ้าชายจิกมีฯ นั้นใช้เวลาผลิตนานกว่า ๑๒ ปี โดยใช้ชื่่อแจกันว่า 'บูรณะฆฏะมหาคงคง' (ออกเสียงว่าบูรณะกะตะมหาคงคา) หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ มีความสูง ๑๐๔ เซ็นติเมตร รอบวงกว้าง ๑๖๑ เซ็นติเมตร บนแจกันมีลวดลายที่เป็นเรื่องราวของแม่กาเผือก หรือท้าวฆติกามหาพรหม มารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ มีมูลค่ากว่าห้าแสนบาท
เตาเผาโบราณทุ่งม่าน พ่ออุ้ยทา |
คุณทัน ธิจิตตัง ผญาดีศรีล้านนา ปี ๒๕๕๓ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น