เสาสะดือเมือง เชียงราย






สะดือเมือง หมายถึง วัตถุสิ่งที่เป็นที่จะหมายเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน เมือง และของประเทศ อันบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ ความร่มเย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฏร์โดยทั่วหน้า เมืองทุกเมือง หมู่บ้านทุกหมู่บ้านย่อมมีเสาสะดือหรือหลักเมืองด้วยกันทั้งนั้น คนในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า หมู่บ้านก็ดี เมืองก็ดี เกิดขึ้นได้เหมือนกับสิ่งมีชีวิต คือ คน สัตว์ พืช ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง ดังนั้นเมื่อจะสร้างบ้านแปงเมืองก็ต้องมีสะดือเมืองเกิดขึ้นก่อน

สมัยโบราณการสร้างบ้านแปงเมืองนั้นต้องหาพื้นที่ หรือทำเลที่เหมาะสมเสียก่อน เหมาะสมของโบราณท่านกล่าวว่า
  1. ต้องไม่ไกลจากแม่น้ำ ทะเล หนอง คลอง บึง หากหาที่เหล่านี้ไม่ได้ จะต้องขุดคูรอบๆ บริเวณว่าสายน้ำใต้ดินไม่ลึก หากสายน้ำลึกเกินไป ย่อมทำให้อาณาประชาราษฏร์ลำบาก หากสายน้ำตื้นเขินเกินไปย่อมมีโอกาสถูกน้ำท่วมได้ง่าย
  2. ชัยภูมิเป็นที่ราบ (ในภาษาเมืองเหนือว่า ราบเปียงเรียงงาม) ดูแล้วตื่นตา สบายตา สบายกายอุ่นใจ เกิดขวัญและกำลังใจหรือไม่ หมายความว่าเป็นที่ราบ ทัศนวิสัย เหมาะสม ไม่อับหรืออยู่ระหว่างหุบเขาทำให้อับลมหรือเป็นช่องทาง ช่องเขา จะเกิดลมพัดผ่านมามากเกินไป ทั้งยังอาจถูกน้ำท่วมฉับพลันอีกด้วย มีต้นไม้น้อยใหญ่ร่มครื้มหนาแน่นพอสมควร
  3. กว้างขวางพอที่จะขยายออกไปได้ในอนาคตอีกหรือไม่ คือการขยายเมืองนั่น ย่อมขยายไปได้ในทุกๆ ด้านโดยรอบ ไม่ถูกน้ำกัดเซาะฝั่ง-ตลิ่ง หรือน้ำเฉียดใกล้จนน่ากลัวอันตราย
  4. ในอาณาบริเวณแว่นแคว้นหรือไกลออกไป มีพื้นที่ทำมาหากินของไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฏร์ ได้มากน้อยเพียงใด เช่น ที่นา ที่ทำการเกษตร ฯลฯ ดังคำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นกมีในป่า ปลามีในน้ำ
  5. สงบ ไกลจากพวกสัตว์ร้าย กลุ่มคนอื่น ไกลจากความร้ายกาจของกระแสน้ำ ฟ้าร้องดอยคราง ถ้าไม่ไกลจากคนกลุ่มอื่น ต้องหมายความว่าไม่ไกลจากคนเผ่าเดียวกัน และมีนิสัยรักสงบ ตั้งใจทำนุบำรุงบ้านเมือง ศาสนา วัดวาอาราม ผู้คนสุภาพอ่อนโยนไม่มีทั้งราชภัยและโจรภัย
การเลือกจุดสะดือเมือง
การหาที่กึ่งกลางที่เหมาะสมกับการสร้างเมือง
  1. ในสมัยโบราณ บางครั้งก็เอาเหตุการณ์ ความฝันของเจ้าเมือง พื้นดินถ้าจะให้ดีจุดนั้นควรมีนูนเป็นหลังเต่าจะเหมาะสมที่สุด เมื่อหมายตาไว้แล้ว ก็จะกะแนวกำแพงคร่าว รวมทั้งกำหนดประตูเมืองไว้ แต่อย่างน้อยประตูเมืองหนึ่งๆ ต้องมี ๔ ทิศ คือ ๔ ประตู ประตูแต่ละทิศย่อมใช้ประโยชน์ต่างกัน สำหรับเมืองใหญ่นั้นประตูย่อมมีหลายแห่ง อย่างเชียงแสนมีถึง ๑๑ ประตู สำหรับเชียงรายมี ๑๒ ประตู
  2. ถ้าเจ้าเมือง ผู้เฒ่าผู้แก่ พราหมณาจารย์ฝัน หรือรวมทั้งอาณาประชาราษฏร์ ฝันร่วมกันที่ใดที่หนึ่งจะตรงกันหลายๆ คนเป็นที่น่าเชื่อถือเลื่อมใส ย่อมทำการตั้งเสาหลักเมืองได้
  3. เมื่อหาที่ได้แล้ว จะฝังข้าวเปลือกไว้ ๗ เม็ด ก็แปลว่า ทีี่บริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะเป็นสะดือเมือง
  4. ถ้าพระสงฆ์ที่ทรงศีล เป็นผู้กำหนดชัยภูมิให้ที่ใดก็มักจะเอาที่นั่น เพราะคนสมัยก่อนเคารพพระสงฆ์เป็นอย่างมาก เพราะพระนั้นย่อมเรียนรู้มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป ยกให้เป็นครูเจ้าและพิธีการต่างๆ
  5. นิมิตพิเศษ เช่น สัตว์สูงคือ นกยูง กาขาว (กาเผือกว่าเป็นสัตว์มงคล) วัว ควาย ช้าง ม้า หรือสัตว์อื่นที่เป็นพญาอยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนั้นแล้วยังมีนิมิตเฉพาะหน้าอีกหลายอย่างที่เป็นมงคลก็ใช้ได้
  6. เป็นที่อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ ร่มรื่น ไม้มงคลเกิดอยู่ใกล้ๆ
  7. ไม่เคยเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน เช่น บ้านเรือน ยุ้งข้าว หรือคอกเลี้ยงสัตว์ใดๆ
  8. ไม่เป็นที่เคยใช้ถ่ายอาจมมาก่อน
สิ่งที่นำมาใช้เป็นสะดือเมือง
  1. ส่วนใหญ่ใช้ไม้ที่เป็นไม้มงคล เช่น ไม้สักทอง ไม้ราชพฤกษ์ ไม้จันทร์
  2. ใช้หินเป็นแท่งฝังแทนไม้ก็ได้ อาจจะเป็นหินทราย หินแกรนิต เป็นต้น ในการนี้ต้องสกัดออกมาให้เป็นแท่งยาวๆ ตามโสลก
  3. สิ่งปลูกสร้างที่เป็นมงคล ได้แก่ พระพุทธรูป พระเจดีย์
รูปร่างลักษณะสะดือเมือง
ลักษณะสะดือเมืองเป็นแท่งกลม ทำด้วยไม้หรือหิน (เสาอินทขิล) ฝังให้โผล่พ้นขึ้นไปจากดิน ตรงปลายเสาทำเป็นดอกบัวตูม เม็ดมะยม ส่วนมากมักทำเป็นรูปบัวมากกว่า ตรงโคนบัวทำเป็นกาบเชิง ที่ฐานจากพื้นดินมักทำเป็นขอบหรือบัวหงาย ตกแต่งสวยงาม ต้องเรียบสนิทไม่มีขรุขระหรือสากมือ ส่วนมากข้างบนจะเล็กกว่าโคน คือเรียวขึ้นไปจะทาทับด้วยยางรัก เสร็จแล้วก็ปิดทองตั้งแต่โคนจรดยอดโดยตลอด

ขนาดของเสาหลักเมือง
สิทธิการิยะโบราณท่านว่า...
  1. ถ้าเป็นเสาหลักบ้านหรือตำบลหรือเมืองเล็กๆ ขนาดหน้าตัดก็ประมาณ ๓-๕ กำมือ (กำมือโดยไม่ต้องงอนิ้วหัวแม่มือ ให้นิ้วหัวแม่มือเหยียดตรงขนานกับแขน และนิ้วอื่นๆ)  กำปู หนึ่งกว้างประมาณ ๔ นิ้ว ถ้าเป็นเมืองใหญ่ต้อง ๕ กำขึ้นไป
  2. ความยาว คำว่า สะดือ แปลว่า กึ่งกลาง ดังนั้นต้องฝังถึงกึ่งกลางต้นเสา ฝังลึกเท่ากับความสูงของเสาเมือง ส่วนที่พ้นพื้นมาก็สูงเท่าความสูงของเจ้าเมืองเช่นเดียวกัน
  3. เสาบริวาร การฝังเสาสะดือเมืองนั้น บางแห่งทำเป็นเสาเดียว บางแห่งมีเสาบริวารอีก ๔ ต้น ต้นละทิศ ความสูงและความลึกพร้อมขนาดไม่จำกัด ขนาดพอเหมาะ แต่ไม่สูงกว่าเสาหลักจริง และต้องยาวเท่ากันด้วย
สำหรับเสาสะดือเมืองของจังหวัดเชียงราย จะตั้งอยู่บนวัดพระธาตุดอยจอมทองนะค่ะ หลังวัดพระแก้ว (ขอบคุณข้อมูลจากหอประวัติเมืองเชียงราย ๗๕๐ ปี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น