เชียงแสน เวียงเก่า เมืองโบราณ

วัดกู่คำ

วัดพระยืน
วัดพระเจ้าทองน้อย
วัดพระบวช


วัดเจดีย์หลวง
วัดพระธาตุจอมกิตติ

วัดจอมแจ้ง
ในอดีตบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว นอกเหนือจากเมืองเชียงรายแล้ว ยังมีเมืองโบราณอื่นๆ อีกอย่างน้อย 3 เมือง

เมืองโบราณแห่งแรก ตั้งอยู่บริเวณดอยเชียงเมียงสบรวกหรือสามเหลี่ยมทองคำ ขึ้นไปทางทิศเหนือของเมืองเชียงแสน ราว 10 กิโลเมตรภายในมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ "พระธาตุภูเข้า" จากการสำรวจของนักโบราณคดีพบร่องรอยแนวคูน้ำหลายแห่ง สันนิษฐานว่าเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นชุมชนเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายทางแม่น้ำโขงตอนเหนือขึ้นไป ชุมชนดังกล่าวคงอยู่ในความควบคุมของเมืองที่ใหญ่กว่า คือ "เมืองเชียงแสน"

เมืองโบราณที่ 2 คือ เวียงเชียงแสนน้อย ตั้งอยู่บริเวณสบกก ห่างจากเมืองเชียงแสนทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในมีโบราณสถานสำคัญ คือ "พระธาตุสองพี่น้อง" ในชินกาลมาลีปกรณ์มีบันทึกเกี่ยวกับเมืองโบราณแห่งที่ 2 ว่าเป็นค่ายพักชั่วคราวของพระเจ้าแสนภู ขณะทำการสำรวจที่ตั้งเมืองเชียงแสน

เมืองโบราณที่ 3 เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีภูเขาล้อมรอบตั้งอยู่ทางฝั่งลาวเยื้องไปทางทิศใต้ของเมืองเชียงแสนน้อยประมาณ 2 กิโลเมตร

ส่วนเมืองเชียงแสนมีกำแพงก่ออิฐรอบ 3 ด้าน (ยกเว้นด้านทิศตะวันออก ซึ่งติดกับแม่น้ำโขง) กำแพงเมืองสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าแสนภู ประมาณ พ.ศ. 1871 มีประตูเมือง 5 ประตู คือ ประตูยางเทิง ทิศเหนือประตูหนองมูด ประตูป่าสัก และประตูทัพม่านทางทิศตะวันออก ประตูดินขอทางทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีป้อมมุมเมืองอีก 12 ป้อม ในบริเวณมุมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้

ในพงศาวดารภาคที่ 61 บันทึกว่า ประตูเชียงแสนมี 11 ประตู เพิ่มจากที่ปรากฏในปัจจุบันอีก 6 ประตู คือ ประตูรั้วปีก ประตูท่าอ้อย ประตูท่าสุกัม ประตูท่าหลวง ประตูเสาดิน ประตูท่าคาว สันนิษฐานว่าประตูทั้งหมดอาจเป็นประตูท่าน้ำริมโขงทางทิศตะวันออกของเมืองที่พังทลายเพราะน้ำโขงเซาะก็เป็นได้ กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการอนุรักษ์วัดต่างๆ ในเมืองเชียงรายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2478 โดยเริ่มจากการขึ้นทะเบียนกำแพงเมือง คูเมือง และเริ่มขุดค้น บูรณะอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

เมืองเชียงแสนเป็นเมืองโบราณ มีประวัติศาสตร์ที่เล่าขานกันหลายยุคหลายสมัย เมืองเชียงแสนมีโบราณสถานมากมายทั้งวัดร้างและวัดที่ยังคงมีพระสงฆ์จำพรรษา กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการอนุรักษ์วัดต่างๆ ในเมืองเชียงแสน และเริ่มขึ้นทะเบียนตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบัน มีวัดภายในกำแพงเมืองทั้งสิ้น 76 วัด ส่วนนอกกำแพงเมืองมี 63 วัด รวมวัดทั้งหมด 139 วัด เช่น วัดอาทิต้นแก้ว วัดสังฆาแก้วดอนทัน วัดเสาเคียน วัดผ้าขาวป้าน วัดร้อยข้อ วัดพระเจ้าล้านทอง วัดมุงเมือง วัดมหาธาตุ วัดเจดีย์หลวง วัดพระบวช วัดพระยืน วัดพระเจ้าทองทิพย์ วัดพระนอน วัดหมื่นเชียง วัดสวัสดี วัดจอมแจ้ง วัดพระธาตุจอมกิตติ วัดป่าสัก วัดกู่เต้า วัดพระธาตุผาเงา วัดป่างัวเชียง เป็นต้น (ขอบคุณข้อมูลจากหอประวัติเมืองเชียงราย ๗๕๐ ปี)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น