คำขวัญประจำอำเภอ "ถิ่นอมตะ พระเชียงแสน แดนสามเหลี่ยม เยี่ยมน้ำโขง จรรโลงศิลปะ"
ประวัติความเป็นมา
ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (พระเจ้านครเชียงใหม่) ได้ทรงส่งใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพมหานครว่า มีชาวพม่า ไทยลื้อ และไทเขิน จากเมืองเชียงตุงประมาณ ๓๐๐ ครอบครัว ได้อพยพลงมาอยู่เมืองเชียงแสน และตั้งตนเป็นอิสระไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของสยามและล้านนา จึงแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากเมือง ถ้าอยากจะอยู่ให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล ไม่มีใครยอมออกไป
ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ พระเจ้านครเชียงใหม่จึงทรงเกฑณ์กำลัง ๔,๕๐๐ คนจากเมืองต่างๆ ยกทัพจากนครเชียงใหม่มาเมืองเชียงรายและเมืองเชียงแสนไล่ชนเหล่านั้นออกจากเมืองเชียงแสน จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้าง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๒๓ ได้ทรงให้เจ้าอินต๊ะ ราชโอรสในพระเจ้าบุญมาเมือง พระเจ้าผู้ครองนครลำพูนมาเป็นเจ้าเมือง (ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์) องค์แรก และให้พระเจ้าผู้ครองนครลำพูนทรงเกณฑ์ราษฏรจากหลายๆ เมืองประมาณ ๑,๕๐๐ ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก "ปักซั้งตั้งถิ่น" อยู่ที่เมืองเชียงแสนจวบจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ทางราชการได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองไปอยู่ที่ตำบลกาสา เรียกชื่อว่า "อำเภอเชียงแสน" ส่วนบริเวณเมืองเชียงแสนเดิมถูกยุบลงเป็น "กิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง" ขึ้นกับอำเภอเชียงแสน และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กิ่งอำเภอเชียงแสน" ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็น "อำเภอเชียงแสน" ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา (ขอบคุณข้อมูลจากหอประวัติเมืองเชียงราย ๗๕๐ ปี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น