ชนชาติพันธุ์ไตขึน (ไตเขิน)

ไทเขิน....เป็นชนชาติหนึ่งในกลุ่มไต ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า ไทเขินเรียกตัวเองว่า "ขึน" ซึ่งมาจากชื่อแม่น้ำในเมืองเชียงตุง ภาษาพูดและเขียนของไทเขินมีความคล้ายคลึงกันกับไทยยองและไทลื้อมาก พูดภาษาไทขืน ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มภาษาย่อยไทพายัพ ในกลุ่มภาษาคำ-ไต ตระกลูภาษาไท-กะได

ศาสนาของไทเขิน....คือพุทธศาสนานิกายเถรวาท นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ ส่วนระบบเศรษฐกิจของไทเขินคือ การทำนา และการเลี้ยงสัตว์ ชื่อจริงของชนนี้ก็คือ "ไทขึน" แต่คนไทยเรียกว่า "ไทเขิน" ก็เพราะว่าชาวไทเขินจะเก่งทางด้านทำเครื่องเขิน คำว่า "ขึน" คือ การออกเสียงของคำว่า "เขิน" เช่นเดียวกับคำว่า "เงิน"

มีการปลูกเรือนกระจายไปตามกลุ่มบ้านภายในเมือง มีทั้งการปลูกเรือนแบบเก่า คือ ก่อสร้างด้วยไม้หรือก่ออิฐแดงและมุงหลังคาด้วยดินขอเช่นเดียวกับบ้านเรือนในชนบท ซึ่งปลูกเรือนในแบบเรียบง่ายมีใต้ถุน เรือนบนเป็นห้องโถง ห้องนอน ห้องครัว และชานบ้าน ถ้าหากไม่ใช้ไม้ทั้งหลัง บางเรือนชั้นล่างก็จะก่ออิฐแดงใช้ดินเหนียวเชื่อม แล้วโบกทับด้วยดินเหนียวอีกชั้นหรือก่ออิฐแดงไม่โบกทับ ส่วนหลังคามุงด้วยดินขอ

เขิน....โดยทั่วไปจะหมายถึง ภาชนะเครื่องใช้ที่สานด้วยไม้ไผ่แล้วเคลือบด้วยรักเขียนลวดลายประดับตกแต่งด้วยทองคำเปลวหรือเงินเปลวที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ ที่มีเชื้อสายสืบมาจากไทเขินแต่โบราณ เครื่องเขินกล่าวกันว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากจีน โดยกรรมวิธีการทำเครื่องเขินได้เริ่มในสมัยฉางโจวเมื่อประมาณ4,000 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานชิ้นส่วนและตัวภาชนะเครื่องเขินในหลุมศพของบุคคลสำคัญหลายแห่ง ต่อมาวัฒนธรรมเครื่องเขินคงได้มีการแพร่หลายไปสู่เกาหลี ญี่ปุ่นตอนใต้ เวียดนาม และเอเชียอาคเนย์แต่ก็มีแนวคิดแยกออกไปที่เชื่อว่าวัฒนธรรมเครื่องเขินน่าจะเกิดขึ้นก่อนในเขตมณฑลยูนนานและรัฐฉานเพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการผลิตเครื่องเขิน...(ข้อมูลจากการจัดแสดงสาธิตวิถีชีวิตชาติพันธุ์ด้านศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ความเชื่อ งานมหกรรมไม้ดอกอาเชียนเชียงราย 2013)
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น