ชนชาติพันธุ์ไตใหญ่

ไทใหญ่ หรือ ฉาน  (ไทใหญ่:ไต๊,พม่า) คือกลุ่มชาติพันธุ์ในตระกลูภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของพม่า ส่วนมากอาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณดอยไตแลง ชายแดนประเทศไทย-ประเทศพม่า คนไทใหญ่ในประเทศพม่ามีประมาณ 3 หรือ 4 ล้านคน แต่มีไทใหญ่หลายแสนคนที่ได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อหนีปัญหาทางการเมืองและการหางาน ตามภาษาของเขาเองจะเรียกตัวเอง "ไตหรือไตย" พี่น้องไตในพม่ามีหลายกลุ่ม เช่น ไตขึน ไตแหลง ไตคัมตี ไตลื้อ และไตมาว แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ไตโหลง ไต = ไท และโหลง (หลวง) = ใหญ่ ซึ่งคนไทยเรียก "ไทใหญ่" เหตุฉะนั้นจะเห็นได้ว่าภาษาไต และภาษาไทยคล้ายกันบ้างแต่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีคำเรียกไทใหญ่อีกอย่างว่า "เงี้ยว" แต่เป็นคำที่ไม่สุภาพในการเอ่ยถึงชาวไทใหญ่

อิทธิพลของพม่า....ในประวัติศาสตร์ไทใหญ่เต็มไปด้วยเรื่องราวสงคราม และประวัติศาสตร์ระยะใกล้ก็ถูกพม่ากดไว้ จนการเรียนประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่กลายเป็นวิชาต้องห้าม การเรียนประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่เป็นเรื่องต้องห้ามตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง โดยไม่ยอมให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาบังคับ เมื่อพม่ากลับมามีอำนาจเหนือดินแดนรัฐฉานจึงสืบทอดเรื่องนี้ต่อไป ชาวไทใหญ่ต้องเรียนภาษาพม่า เรียนทุกวิชาเป็นภาษาพม่าแม้ผู้ที่ไม่ได้โรงเรียน เข้าวัด แต่ระเบียบพิธี และพิธีกรรมต่างๆ เป็นแบบพม่า และใช้ภาษาพม่าทั้งหมด อิทธิพลทางวัฒนธรรมของพม่าในไทใหญ่จึงมีมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยอิทธิพลทางวัฒนธรรมของพม่ายังเป็นสิ่งสืบเนื่องจากทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อพม่าเป็นใหญ่ขึ้นมาก็จะเกณฑ์ให้เจ้าฟ้าไทใหญ่ส่งลูกสาวและลูกชายไปเมืองหลวงพม่า เจ้าหญิงเจ้าชายเหล่านี้จึงได้รับวัฒนธรรมพม่ามาอย่างไม่รู้ตัว และนำกลับมาเผยแพร่แก่ประชาชนไทใหญ่ในรูปแบบของภาษา ดนตรี นาฏศิลป์ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เช่น เกิดความนิยมว่า วรรณคดีที่ไพเราะซาบซึ้งควรมีคำพม่าผูกผสมผสานกับคำไท ความเป็นพม่าจึงครอบกรอบสังคมไทใหญ่

การแต่งกาย....สตรี นิยมเสื้อป้ายข้าง ทรงผมรวบเป็นมวยขึ้น และกดส่วนบนให้แบนลงเหมือนกล่องข้าว ซิ่นที่สวมใส่เป็นแบบมัดหมี่ แบบอินเลในพม่า บุรุษ นิยมสวมเสื้อไต มีกระดุมแบบจีนประกอบกันเป็นคู่ๆ ตลอดแถว และนิยมสวมเสื้อมีอ่อนซ้อนข้างไน เคียนหัว และพันเอวด้วยผ้าสีอ่อน เช่น ชมพู ขาว เป็นต้น

ประเพณีปอยส่างลอง....ปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วนั้น เป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธ ซึ่งปกติจะมีการจัดงานอยู่ประมาณ 3 วัน แต่หากผู้ที่ทำการบวชนั้นมีฐานะดีก็จะมีการฉลองยาวนานเป็น 5 หรือ 7 วันได้ ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆ ด้วย โดยประเพณีปอยส่างลองนี้เป็นประเพณีของคนไทยซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวไทใหญ่

วิถีชีวิตความเป็นอยู่....ชอบความสนุกสนาน มีนิสัยใจคอโอบอ้อมอารี นับถือพุทธศาสนา มีวัดอยู่ทุกหมู่บ้าน มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่หลากหลาย...(ข้อมูลจากการจัดแสดงสาธิตวิถีชีวิตชาติพันธุ์ด้านศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ความเชื่อ งานมหกรรมไม้ดอกอาเชียนเชียงราย 2013)











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น