กะเหรี่ยง....เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เดิมอาศัยอยู่แถบบริเวณต้นแม่น้ำสาละวินของพม่า ต่อมาได้อพยพเข้าสู่ประเทศพม่าและไทย มีภาษาพูดเรียกว่า "ภาษากะเหรี่ยง" จัดในตระกลูภาษาจีน-ทิเบต กะเหรี่ยงมีด้วยกันหลายกลุ่มย่อย และมีชื่อเรียกต่างๆ กัน ทั้งยังมีประเพณี ความเชื่อ ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันด้วย กะเหรี่ยงในประเทศไทยมี 4 กลุ่มย่อย คือ
- สะกอ หรือยางขาว เรียกตัวเองว่า ปกากะญอ เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด
- โป เรียกตัวเองว่า โพล่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่
- ปะโอ หรือ ตองสู อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- บะเว หรือ คะยา อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ความเชื่อ....เดิมนั้นชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามในภายหลังชาวกะเหรี่ยงในหลายชุมชนหันมาถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญ
ถิ่นที่อยู่....แม้ว่ากะเหรี่ยงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวเขา แต่ก็ไม่ได้อาศัยอยู่บนที่สูงเสียทั้งหมด บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบเช่นเดียวกับชาวพื้นราบทั่วไป ในหมู่บ้านบางแห่งมีทั้งกะเหรี่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโป แต่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ชาวกะเหรี่ยงนิยมตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่นิยมย้ายถิ่นบ่อยๆ และมีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเป็นอย่างดี และเป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำหรือต้นน้ำลำธาร
ถ้าพูดถึงคนกับช้าง....กะเหรี่ยงจะอยู่กับช้างมาตลอด ตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว จากคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าชัย กาทู กล่าวว่า ถ้าพูดตรงๆ คนกับช้างจะอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาแล้ว กะเหรี่ยง จะมีความผูกพันกับช้างมาเป็นเวลายาวนาน กะเหรี่ยงที่นั่นเลี้ยงช้างแบบปล่อยไว้ เพราะเมื่อก่อนถนนทางยังไม่มีและไม่มีทางรถผ่านเข้าไป หมู่บ้านที่นั่นจะเป็นทางป่าเป็นส่วนใหญ่ ลำบากต่อการขนส่งเสบียงอาหาร กะเหรี่ยงที่นั่นจึงเลี้ยงช้างไว้เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ จนกระทั่งใช้ลากไม้ซุง ทำบ้านเรือน ช่วงปลูกข้าว เกี่ยวข้าวเสร็จ จะใช้แรงงานช้างในการขนส่งมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง การทำงานทุกอย่างแทบที่จะใช้แรงงานช้างเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นช้างจึงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่ชีพของชนเผ่ากะเหรี่ยงมาจนถึงปัจจุบันและได้นำช้างมาทำเป็นทัวร์ช้างเพื่อจะได้รักษาช้างไว้ให้คู่กับกะเหรี่ยงตลอดไป...(ข้อมูลจากการจัดแสดงสาธิตวิถีชีวิตชาติพันธุ์ด้านศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ความเชื่อ งานมหกรรมไม้ดอกอาเชียนเชียงราย 2013)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น